ต้องถือเป็น “กระบวนการ” ที่สร้างความสั่นสะท้านต่อ “แวดวงการเมือง” ของชาวเมือง “ผู้ดี” นิกเนมของ “อังกฤษ” ในยุคร่วมสมัย ชนิดที่ไม่เคยเห็น หรือเป็นมาก่อน สำหรับ “เบร็กซิต (Brexit)” กระบวนการในอันที่จะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป หรืออียู ของอังกฤษ ที่กำลังเป็นกระแสร้อน แบบร้อนจนลุกเป็นไฟ แทบจะไหม้จุณกันไปทั้งเกาะบริเตนใหญ่ของอังกฤษ ณ ชั่วโมงนี้ เพราะถึงขนาดทำเอา ผู้ที่หมายมั่นว่า จะเป็น “นางสิงห์เหล็กคนที่สอง” อย่าง “เทเรซา เมย์” ต้องมีอันพังพาบ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม” หรือ “คอนเซอร์เวทีฟปาร์ตี” ด้วยสภาพน้ำตานองหน้า แบบ “หมดลายนางราชสีห์” กันไปเลยทีเดียว เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังเจอพิษภัยแห่งผลพวงของเบร็กซิตเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันที่ 7 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ก็จะมีผลของการประกาศลาออกข้างต้น นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม ก็เท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีหญิงเมย์ หมดโอกาสที่จะก้าวทะยานขึ้นมาทาบชั้นเหมือน “มากาเร็ต แทตเชอร์” อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษ ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งได้รับฉายาว่า “นางสิงห์เหล็ก” ตัวจริง เสียงจริงอย่างเต็มภาคภูมิ อย่างไรก็ดี ว่ากันถึงผลพวงของพิษภัยที่พ่นใส่มาจากเบร็กซิตนี้ ก็หาใช่มีแต่นายกรัฐมนตรีหญิงเมาย์เท่านั้นหรอก ที่เผชิญหน้า แต่ได้สำแดงเดชต่อนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนก่อน คือ “เดวิด คาเมรอน” แห่งพรรคอนุรักษ์นิยมเดียวกันนี้ จนมีอันเก็บข้าวของออกจาก “บ้านเลขที่ 10 บนถนนดาวนิง” ในกรุงลอนดอน แห่งนั้นไป เพราะ “จำต้องอำลาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของชาวเมืองผู้ดี” กันมาแล้ว เมื่อเกือบๆ 3 ปีก่อนหน้า ภายหลังจากที่เขาเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวอังกฤษ ลงประชามติว่า จะ “อยู่” หรือ “ไป” จาก “สหภาพยุโรป” หรือ “อียู” ซึ่งผลประชามติ ก็เป็นไปตามที่ทราบกันดีอยู่แล้ว คือ ออกพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของอียู หรือที่เรียกว่า “เบร็กซิต” จนส่งผลให้นายคาเมรอน ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอังกฤษต่อไปได้ เนื่องจากว่าเขา สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไป แต่ปรากฏว่า ผลประชามติมิได้เป็นไปตามที่เขามุ่งหวัง ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2559 นายเดวิด คาเมรอน ในวันประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่หน้าบ้านเลขที่ 10 ในกรุงลอนดอน หลัง “คาเมรอน” กระเด็นตกจากเก้าอี้เพราะเบร็กซิตไป “เทเรซา เมย์” ก็มารับไม้ต่อ ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” ที่สังกัดพรรคคอนเซอร์เวทีฟเดียวกัน ทว่า ปรากฏว่า ผลพวงของพิษภัยแห่งเบร็กซิต ยังไม่ลดน้อยถอยลงไปแต่ประการใดไม่ แถมยังทำท่าว่าจะรุนแรงยิ่งกว่าด้วยซ้ำ โดยเบร็กซิต แผลงฤทธิ์พ่นพิษถาโถมเข้าใส่ต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิงเมย์อยู่เป็นระยะๆ ท่ามกลางความหวังที่นางเมย์ หมายมุ่งว่า จะพยายามนำพาอังกฤษ เข้าสู่กระบวนการเบร็กซิต ออกจากสหภาพยุโรป โดยมีข้อตกลงเงื่อนไขต่างๆ ในอันที่จะทำให้อังกฤษ ไม่เสียเปรียบ หรือได้รับผลกระทบเชิงลบมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม การ์ณกลับปรากฏว่า เบร็กซิตที่นางเมย์หมายมั่นว่าจะทำให้เป็นกระบวนการที่สะดวกดาย กลับกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยเซาะบ่อนทำลายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหญิงเมย์อยู่เนืองๆ ไล่ไปตั้งแต่การส่งผลทำให้บรรดารัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของเธอ ต้อง “ไขก๊อก” ลาออกจากตำแหน่งไปตั้งหลายคน ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการทำงานและบำเน็จบำนาญ “เอสเธอร์ แม็คเวย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนดังอย่าง “บอริส จอห์นสัน” หรือแม้กระทั่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเบร็กซิต” ที่สถาปนากระทรวงขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องการเบร็กซิตโดยเฉพาะอย่าง “โดมินิก ราอับ” นอกจากนี้ เบร็กซิตที่ว่า ก็ยังนำพาให้คะแนนนิยมของพรรคอนุรักษ์นิยมตกต่ำ จนต้องสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ไปเป็นจำนวนมาก ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2560 ถึงขนาดทำให้พรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งแม้จะชนะเลือกตั้ง แต่ก็ทำท่าจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย กระทั่งต้องไปมี “ดีล” กับ “พรรคชาวสหภาพประชาธิปไตยแห่งไอร์แลนด์เหนือ” หรือ “ดียูพี” ซึ่งได้ ที่นั่ง ส.ส. มา 10 เสียง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทว่า เสียงที่นั่ง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลก็ปริ่มน้ำเต็มทน คือ 327 เสียง จากจำนวนที่นั่ง ส.ส.ทั้งสิ้น 650 เสียง ใช่แต่เท่านั้น คะแนนนิยมของพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่กำลังตกต่ำ ยังได้สะท้อนผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป ที่มีขึ้นครั้งล่าสุด เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค. ที่เพิ่งผ่านพ้นไป โดยได้คะแนนนิยมตามหลังพรรคการเมืองอื่นๆ มาเป็นลำดับที่ 5 ตามหลังพรรคเบร็กซิต ที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ พรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรคแรงงาน หรือแม้กระทั่งพรรคกรีน บรรดาผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ท่ามกลางความหวั่นวิตกของบรรดาพลพรรคอนุรักษ์นิยมต่อการเลือกตั้งที่คาดหมายกันว่า อาจจะมีในช่วงเดือน ต.ค.ปลายปีนี้ โดยเบื้องต้นทางพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ก็ต้องจัดการภายในพรรค ด้วยการเลือกหัวหน้าพรรคขึ้นมาเสียก่อน ซึ่งปรากฏว่า มีผู้สมัครถึง ณ เวลานี้ จำนวน 6 คน ด้วยกัน ได้แก่ โดมินิก ราอับ แอนเดรีย เลียดซอม เจเรมี ฮันต์ รอรี สจวร์ต แม็ทท์ แฮนค็อก เอสเธอร์ แม็คเวย์ และบอริส จอห์นสัน ทั้งนี้ ผลจะลงเอยอย่างไร คงต้อรอถึงช่วงสิ้นเดือน ก.ค. คงจะรู้ผล ทั้งนี้ บรรดาคอการเมืองของชาวเมืองผู้ดีประเมินว่า “บอริส จอห์นสัน” มีภาษีดีกว่าใครเพื่อนฃ นายบอริส จอห์นสัน ตัวเก็งผู้สมัครหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ