“กฤษฏา” สั่งด่วน รับมือฝนตกหนักทั่วประเทศ 27-30 พ.ค.นี้ ย้ำชลประทานทุกพื้นที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ด้าน สทนช. ชี้ปีนี้พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 28.11 ล้านไร่ ตลอดแนว 12 ลุ่มน้ำทุกภูมิภาค เปิดแผนป้องน้ำท่วมกรุงเทพฯ เฝ้าระวัง 56 จุด พื้นที่เสี่ยง 14 จุด ใช้เรดาร์วัดทิศทางเคลื่อนตัวกลุ่มเมฆฝน รู้พื้นที่ฝนตก ติดเครื่องสูบน้ำครบทุกจุด ลอกท่อ 6.4 พันกม. เร่งระบายน้ำออกคูคลอง 1,682 คลองทันที ไม่มีน้ำรอระบาย เมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้ส่งไลน์ด่วนถึงอธิบดีกรมชลประทาน ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่รับผิดชอบพื้นที่ เพื่อดำเนินการดังนี้จากประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา มีฝนตกหนักทั่วทุกภาคระหว่างวันที่ 27-30 พ.ค.นี้ให้วิเคราะห์สถานการณ์ปริมาณน้ำท่าที่จะไหลลงอ่าง,ไหลในลำน้ำ,พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม กำหนดและแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบ/กำหนดผู้รับผิดชอบและแบ่งทรัพยากร ส่งเครื่องจักรมือ เช่น เครื่องสูบน้ำ ผลักดันน้ำ รถขุดฯลฯ ลงในจุดเสี่ยง พร้อมกับกำกับ ติดตาม ประเมินสถานการณ์ รายงานให้จังหวัดพื้นที่เสี่ยง กรม กระทรวงทราบทันท่วงที ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เตรียมพร้อมตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับมือประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้วโดยภัยแล้งเริ่มคลี่คลายในช่วงนี้พื้นที่ภาคอีสานมีฝนตกในหลายพื้นที่ส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ แม้ว่าช่วงนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ไปจนถึงกลางเดือน ก.ค. อาจจะมีฝนทิ้งช่วง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปี ซึ่งกรมชลฯจะติดตามรายพื้นที่เพื่อส่งน้ำช่วยพื้นที่เพาะปลูก เสริมจากน้ำฝน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ขณะที่ นายสมกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จัดทำวิจัยและทำแผนแม่บทแก้ปัญหาพื้นที่นํ้าท่วมซํ้าซาก ซึ่งในปีนี้มีพื้นที่เสี่ยงนํ้าท่วมทั้งประเทศ 28.11 ล้านไร่ แบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 5.13 ล้านไร่ อาทิ ลุ่มนํ้าปิง เชียงใหม่-ลำพูน,ลุ่มนํ้าปิงตอนล่าง,ลุ่มนํ้ายมตอนบน ส่วนภาคกลาง 8.07 ล้านไร่ ลุ่มนํ้าป่าสัก ลุ่มนํ้าเพชรบุรีและลุ่มนํ้าปราจีนบุรี รอบเมือง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นครสวรรค์-กรุงเทพฯ ภาคตะวันออก 1.52 ล้านไร่ พื้นที่เสี่ยงนํ้าท่วม เช่น ลุ่มนํ้าบางปะกง-ลุ่มนํ้าปราจีนบุรี เป็นต้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11.75 ล้านไร่ ลุ่มนํ้าโขงตอนบน, ลุ่มนํ้าห้วยหลวง, ลุ่มนํ้าชีตอนล่าง เป็นต้น และภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยง 1.26 ล้านไร่ ลุ่มน้ำตาปี จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ ธานี เป็นต้น สภาพอากาศในช่วงฤดูฝนปี 2562 คาดจะใกล้เคียงกับปี 2550 มีอ่างเก็บนํ้าที่น่าเป็นห่วงคือ อ่างเก็บนํ้าศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีน้ำ 79% โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณฝนค่าเฉลี่ยปีนี้เท่ากับปี 2550 มีฝนน้อย โดยเดือนพ.ค.จะมีปริมาณฝนตํ่ากว่าค่าเฉลี่ย 25% เดือนมิ.ย.ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย เดือนก.ค. ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ย 25% รวม 3 เดือนตํ่ากว่าค่าเฉลี่ย 10% ขณะที่คาดจะมีพายุเข้าไทย 1-2 ลูกในปีนี้ ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. สถานการณ์น้ำเขื่อนที่มีปริมาณนํ้าน้อยไม่ถึง 30% ของความจุ มี 177 แห่ง เสี่ยงวิกฤติขาดแคลนนํ้าทำนาในฤดูแล้งปีหน้าหากฝนปีนี้มาน้อยลง ซึ่งคณะทำงานบริหารจัดการน้ำ จะทำแผนรับสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับ ปัจจุบันภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ รวม 4.02 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 53% เป็นน้ำใช้การได้ 1.6 หมื่นล้าน ลบ.ม. หรือ 31% น้อยกว่า ปี61 กว่า 5,980 ล้านลบ.ม. เขื่อนต่างๆยังรับน้ำได้อีก 3.58 หมื่นล้านลบ.ม. พื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร มีจุดเฝ้าระวัง 56 จุด และจุดเสี่ยงอีก 14 จุด ซึ่งมาตรการรับมือฝนได้วางแผนเร่งระบายน้ำ จะใช้สถานีเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนที่จะเข้ามาตกแต่ละพื้นที่ เพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าประจำจุด และปฏิบัติตามแผนระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้ลอกท่อระบายน้ำ ทั้ง 6,400 กิโลเมตร และคูคลองอีก 1,682 คลองไว้พร้อมระบายน้ำแล้ว รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเฝ้าระวังและจุดเสี่ยง แต่ละพื้นที่ไว้แล้ว ด้านเว็บไซส์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) องค์กรมหาชน ระบุถึงสถานการณ์เขื่อนน้ำน้อยวิกฤต (%น้ำใช้การฯ) เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ (0%),เขื่อนสิรินธร (1%),เขื่อนกระเสียว (9%),เขื่อนขุนด่านปราการชล (11%),เขื่อนป่าสักฯ (12%),เขื่อนทับเสลา (13%),เขื่อนคลองสียัด (13%),เขื่อนสิริกิติ์ (15%),เขื่อนลำพระเพลิง (15%),เขื่อนห้วยหลวง (16%),เขื่อนแควน้อย (16%),เขื่อนภูมิพล (16%),เขื่อนแม่กวง (16%),เขื่อนนฤบดินทรจินดา (17%),เขื่อนวชิราลงกรณ (18%) เขื่อนน้ำมากวิกฤต (%รนก.) : ไม่มี สำหรับสถานการณ์เตือนภัยฝนในระดับปกติ และสถานการณ์พายุ ยังไม่มีพายุเข้าใกล้ประเทศไทยขณะนี้