วันที่ 26 พ.ค.62 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “รู้สึกอย่างไร เมื่อ คสช. กำลังจะหมดหน้าที่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤษภาคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,257 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและความสุขของคนในชาติ หลังจากครบรอบ 5 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และความรู้สึกของประชาชนเมื่อ คสช.กำลังจะหมดหน้าที่ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนเมื่อ คสช. กำลังจะหมดหน้าที่ในทันทีที่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 24.50 ระบุว่า รู้สึกดีใจ น่าจะไปได้ตั้งนานแล้ว รองลงมา ร้อยละ 23.79 ระบุว่า ไม่มีความรู้สึกใด ๆ , ร้อยละ 13.84 ระบุว่า รู้สึกอยากขอบคุณที่ช่วยดูแลประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา , ร้อยละ 13.29 ระบุว่า รู้สึกเสียดาย น่าจะอยู่ต่อไป , ร้อยละ 9.55 ระบุว่า รู้สึกว่า ความวุ่นวายทางการเมืองแบบเก่า ๆ กำลังจะกลับมา ร้อยละ 9.07 ระบุว่า รู้สึกว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังจะเดินหน้า , ร้อยละ 8.19 ระบุว่า รู้สึกว่าประเทศกำลังจะเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ , ร้อยละ 5.33 ระบุว่า รู้สึกว่าประเทศเสียโอกาสไปมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา , ร้อยละ 1.91 ระบุว่า รู้สึกกังวลว่านักการเมืองที่เข้ามาจะทำให้ประชาธิปไตยบิดเบือน และร้อยละ 0.72 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ อยากให้นักการเมืองชุดใหม่เข้ามาสานต่อ ในโครงการที่ดี ๆ ต่อจากโครงการเดิม เศรษฐกิจแย่เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และกังวลว่านักการเมืองชุดใหม่จะเข้ามาบริหารไม่ดีเหมือนชุด คสช. ด้านระดับความสุขของประชาชนในโอกาสครบรอบ 5 ปีที่ คสช. เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.63 ระบุว่า มีความสุขเท่าเดิม เพราะ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่ยังคงเหมือนเดิม การบริหารงานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม เศรษฐกิจและค่าครองชีพยังสูงเช่นเดิม รองลงมา ร้อยละ 33.73 ระบุว่า มีความสุขลดลง เพราะ เศรษฐกิจปากท้องของประชาชนแย่ลง ค่าครองชีพสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ การบังคับใช้กฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายไม่ตรงจุด มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากเกินไป และขาดความมั่นคงทางประชาธิปไตย และร้อยละ 21.64 ระบุว่า มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะ การบริหารงานต่าง ๆ ดี มีการช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่มีการชุมนุมและความวุ่นวายทางการเมือง บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 4 ปี 6 เดือน คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่ทำการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 พบว่า สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนเท่า ๆ กัน (จากเดิม ร้อยละ 21.20 เป็นร้อยละ 21.64) เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น (จากเดิม ร้อยละ 30.64 เป็นร้อยละ 33.73) ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิม มีสัดส่วนลดลง (จากเดิม ร้อยละ 47.68 เป็นร้อยละ 44.63) สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 5 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.69 ระบุว่า บ้านเมืองสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง รองลงมา ร้อยละ 30.55 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข , ร้อยละ 5.81 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน , ร้อยละ 4.46 ระบุว่า การจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด ร้อยละ 2.94 ระบุว่า การมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน , ร้อยละ 2.47 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม , ร้อยละ 2.15 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร , ร้อยละ 0.95 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม , ร้อยละ 0.32 ระบุว่า การมีเสรีภาพมากขึ้น และร้อยละ 1.66 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง เช่น ด้านคมนาคม โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 5 ปี ของ คสช. ในประเด็นต่าง ๆ ที่ยังไม่ทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.82 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม รองลงมา ร้อยละ 16.31 ระบุว่า ไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข , ร้อยละ 14.00 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร , ร้อยละ 9.47 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน , ร้อยละ 9.07 ระบุว่า การที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 5.09 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน , ร้อยละ 2.55 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาอาชญากรรม , ร้อยละ 1.51 ระบุว่า การมีเสรีภาพที่ยังไม่เต็มที่ของสื่อมวลชน , ร้อยละ 0.95 ระบุว่า การจัดระเบียบสังคม เช่น การจัดระเบียบทางเท้า การจัดระเบียบชายหาด และร้อยละ 2.23 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหายาเสพติด สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคม การบังคับใช้กฎหมายในบางเรื่องที่เข้มงวดมากเกินไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า การแก้ปัญหาระบบการศึกษา การปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูปองค์กรตำรวจ