ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ถึงแม้ว่า “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์”จะมีทั้งพรสวรรค์และมีทรัพย์สินมหาศาลเป็นทุนเดิมมากเท่าใดก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองของเขาอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยเขากำลังพยายามดิ้นเอาตัวรอดดื้อดึงต่อสภาคองเกรสอย่างไม่สนใจไยดี กรณีการสืบสวนความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 โดยอัยการพิเศษโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ใช้เวลานานกว่า 22 เดือน และมีรายงานสรุปออกมาถึง 448 หน้าแต่กลับปรากฏว่ารายงานดังกล่าวประธานาธิบดีทรัมป์พยายามดิ้นสุดชีวิตทั้งผลักและดันไม่ให้รัฐมนตรียุติธรรมวิลเลียม บารร์ ส่งรายงานของอัยการมุลเลอร์ไปยังสภาคองเกรส!!! หากวิเคราะห์แล้วดูเหมือนว่าแทนที่รัฐมนตรียุติธรรม วิลเลียม บารร์ จะเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมให้แก่สังคมและประเทศชาติ แต่เขากลับวางตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์ประธานาธิบดีทรัมป์ ทำการย่อรายงานของอัยการมุลเลอร์จาก 448 หน้าหดลงจนเหลือแค่เพียง 4 หน้าส่งไปให้คณะกรรมาธิการต่างๆของสภาคองเกรส โดยมีใจความระบุว่า “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีความผิดในกรณีมีข้อกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับรัสเซียในการเลือกตั้ง และประธานาธิบดีทรัมป์ก็มิได้ขัดขวางขบวนการยุติธรรม” มีผลทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ฉกฉวยโอกาส ออกมาป่าวประกาศโพนทะนาว่า “ข้าพเจ้าพ้นจากความผิดทุกๆข้อหา” และเมื่อเหตุการณ์เกิดพลิกผันเช่นนั้น มีข่าวเล็ดลอดของอัยการพิเศษโรเบิร์ต มุลเลอร์ ที่ได้ประท้วงต่อรัฐมนตรียุติธรรมวิลเลียม บารร์ ว่ารายงานย่อลงจนเหลือแค่สี่หน้าไม่ตรงแถมยังบิดเบือนต่อความเป็นจริง จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการหลายๆชุดในสภาคองเกรสให้นำรายงานทั้งหมดออกมาเปิดเผย!!! โดยหนึ่งในคณะกรรมาธิการที่สำคัญที่สุดอันได้แก่คณะกรรมาธิการตุลาการสภาผู้แทนฯ ซึ่งนำโดยประธานเจอร์รี่ นาดเลอร์ ได้ส่งหมายศาล (Subpoena) เพื่อใช้บังคับให้รัฐมนตรียุติธรรมบารร์ส่งมอบรายงานของอัยการมุลเลอร์ฉบับสมบูรณ์ให้แก่สภาคองเกรส แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ประหลาดๆ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ออกมากดดันไม่ให้รัฐมนตรียุติธรรมปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะประสบความสำเร็จในการถ่วงไม่ให้รายงานของอัยการมุลเลอร์ถึงมือสภาคองเกรสไปแล้วขั้นหนึ่งก็ตาม แต่กลับมีเสียงให้ถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ อนึ่งเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ได้มีสมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรครีพับลิกันคนหนึ่งชื่อว่า “ส.ส.จัสติน อมาช” ซึ่งเขาผู้นี้เรียนจบไฮสคูลด้วยคะแนนสูงสุดของรุ่น (Valedictorian) จบด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และเขายังเป็นส.ส.จากรัฐมิชิแกนตั้งแต่ปี 2010 โดยเขาอยู่ในกลุ่มปีกขวาจัดของพรรครีพับลิกัน แถมยังเคยสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเต็มสูบแต่ขณะนี้ทำเรื่องอันแสนจะพลิกผัน โดยเขาได้ออกมาจุดประกายประกาศว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์เข้าข่ายขัดขวางต่อขบวนการยุติธรรม” โดยส.ส.อมาช แยกแยะองค์ประกอบของการขัดขวางขบวนการยุติธรรมของประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาเป็นสี่ประเด็นด้วยกันคือ หนึ่ง : รัฐมนตรียุติธรรม บารร์ จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงในรายงานของอัยการมุลเลอร์ สอง : ประธานาธิบดีทรัมป์มีพฤติกรรมขัดขวางต่อขบวนการยุติธรรมเข้าข่ายสมควรจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง สาม : มีการเล่นพรรคเล่นพวก จนทำให้การถ่วงดุลอำนาจหย่อนยานหมดความน่าเชื่อถือ และสี่ : สมาชิกสภาคองเกรสน้อยคนนัก ที่มีโอกาสได้อ่านบทสรุปในรายงานของอัยการพิเศษมุลเลอร์ นอกจากนั้นแล้วส.ส.อมาช ยังได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับเทค แท็บเปอร์ นักข่าวชื่อดังของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาคองเกรสที่จะต้องเข้ามารักษาการถ่วงดุลอำนาจเอาไว้” เท่ากับว่าขณะนี้ส.ส.อมาช แห่งพรรครีพับลิกันได้แสดงความกล้าหาญฉายเดี่ยวจุดประกายเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ จนทำให้การผนึกพลังอย่างเหนียวแน่นของพรรครีพับลิกันเริ่มมีเสียงแตกเกิดขึ้นแล้ว มีผลทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาตอบโต้อย่างทันควันในทวิตเตอร์ตามถนัดเหมือนเคยว่า “ออสติน อมาช ยังอ่อนหัดกระดูกคนละเบอร์กับข้าพเจ้า” ทั้งนี้เท่าที่ผ่านมา “แนนซี เพโลซี่”ประธานสภาผู้แทนฯมักจะระมัดระวังในการเปิดประเด็นเรื่องที่ต้องการจะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง แต่เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วเธอได้ส่งสัญญานว่า ข่าวที่เผยแพร่ออกมาแทบทุกๆวันเรื่องที่ประธานาธิบดีทรัมป์มีเจตนารมณ์และพฤติกรรม (Intent + Act) ในการกระทำความผิดต่อแม่บทกฎหมายนั้น เข้าข่ายว่าสามารถจะถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ส่วน “ศาสตราจารย์ลอเร็นซ์ ไทรบ์” แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญและยังเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง โดยเขาได้แต่งหนังสือออกมาเล่มหนึ่งร่วมกันเพื่อนนักวิชาการด้วยกัน โดยหนังสือชื่อว่า “To End a Presidency: The Power of Impeachment” ซึ่งเขาได้ออกมาแย้งว่า “สภาคองเกรสไม่ควรละเลยหน้าที่เกี่ยวกับกรณีถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง” เมื่อลองหันมาวิเคราะห์ถึงแนวทางที่จะใช้ในการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ที่น่าจะมีความเป็นไปได้ในขณะนี้ มีสองแนวทางด้วยกันกล่าวคือ หนึ่ง : เปิดทางให้ประชากรชาวอเมริกันเข้ามามีส่วนตัดสินในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในปีหน้า ที่ถือว่าเป็นการแสดงประชามติของอเมริกันชน แต่ทว่านักการเมืองของพรรคเดโมแครตส่วนหนึ่งคิดว่านานเกินไป ไม่สามารถรอได้ เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมากเกินไปแล้ว!!! สอง : ควรจะเปิดทางให้สภาคองเกรสดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยเรียกพยานที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการตุลาการของสภาผู้แทนฯ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการเปิดรับฟังข้อคิดเห็น (Hearings) ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ไม่สามารถจะบงการในเรื่องต่างๆตามที่ใจเขานึกได้อีกต่อไป อีกทั้งยุคนี้เป็นยุคไฮเทคที่ไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้คนอเมริกันสามารถรับข่าวสารจากการกระจายข่าวของบรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายแหล่ได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที และอย่าลืมว่าสมัยที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เข้าสู่ขบวนการสอบสวนให้ปากคำนั้น คะแนนนิยมของเขาอยู่ที่ 68% แต่เมื่อคนอเมริกันค่อยๆซึมซับข้อมูลพฤติกรรมแย่ๆของนิกสันมากขึ้น คนอเมริกันก็ค่อยๆเปลี่ยนใจกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อการกระทำของนิกสัน แต่เนื่องจากเขาไหวตัวทันชิงลาออกไปก่อนที่จะถูกถอดถอนให้ออกจากตำแหน่ง!!! กล่าวโดยสรุปดูเหมือนว่าหนทางที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้เดินในแวดวงการเมืองของเขาขณะนี้ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และยังไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดแล้วเขาจะพบกับหนทางตันจนไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับเสียงของอเมริกันชนที่จะเป็นฝ่ายตัดสินอนาคตของเขาว่า “จะได้ไปต่อหรือจะต้องกระเด็นออกไป” ละครับ