SPCG โชว์ผลประกอบการไตรมาสแรกมีกำไรสุทธิ 782.95 ล มั่นใจปีนี้กวาด 7,000 ล้านบาทได้ตามเป้า ลั่นรุกหนักธุรกิจโซลาร์รูฟตั้งเป้ากวาดรายได้ 2,000 ล.จาก 3 กลุ่มหลัก “บ้านพัก-สำนักงาน-โรงงานอุตสาหกรรม” เผยธุรกิจโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นยังเดินหน้าไปตามแผน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG”แถลงผลประกอบการของ SPCG ว่า ใน ไตรมาสที่1 ปี 2562 มีรายได้รวมจากการขาย จำนวน 1,341.60 ล้านบาท ประกอบด้วยรายได้จากธุรกิจ Solar Farm ร้อยละ 83, ธุรกิจ Solar Roof ร้อยละ 12 และอื่นๆอีกร้อยละ 5 รายได้ลดลง ร้อยละ 12 จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากธุรกิจ Solar Roof ที่ลูกค้าชะลอการลงทุน และเกิดการแข่งขันด้านราคาที่มากขึ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 782.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้จากปริมาณหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 จากงวดเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 0.60 เท่า ซึ่งลดลงร้อยละ6จากปีก่อน นางวันดี กล่าวว่า  ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 7,000 ล้านบาท โดยการเติบโตของ SPCG มาจาก 2 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 36 โครงการรวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 70 ของรายได้รวม โดยปัจจัยหลักที่ทำให้รายได้เติบโต ขึ้นอยู่กับจำนวนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายได้ และการรับรู้รายได้จากการลงทุน Solar Farm ขนาด 30เมกะวัตต์ ที่ประเทศญี่ปุ่น นางวันดี กล่าวอีกว่า ส่วนธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 25 ของรายได้รวมนั้น ในปีนี้บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (บริษัทในเครือของ SPCG) ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาทโดยยังคงมุ่งเน้นการเติบโตใน 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มบ้านพักอาศัย (Residential), กลุ่มสำนักงาน อาคาร ธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจขนาดใหญ่ (Commercial) และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial) “ในปีนี้ กลุ่มลูกค้าที่คาดว่าจะเติบโตเป็นอย่างมาก คือกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัย (Residential) เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) ปี 2018 ในส่วนของโซลาร์ภาคประชาชนจำนวน 100 เมกะวัตต์ นอกจากจะมีส่วนช่วยในการประหยัดค่าไฟฟ้าในเวลากลางวันได้แล้ว ครัวเรือนที่สามารถผลิตหน่วยไฟฟ้าได้เกินกว่าการใช้งานยังสามารถจำหน่ายให้ภาครัฐได้ด้วย และหากประมาณการการติดตั้งให้แต่ละครัวเรือน ครัวเรือนละ 5 kWp สามารถครอบคลุมประชาชนได้ถึงปีละกว่า 20,000 ครัวเรือนทีเดียว ซึ่งเชื่อว่าจะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและมีความต้องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือ Solar Roof มากขึ้นในปีนี้” ดร.วันดี กล่าว นางวันดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท Sakura Solar Limited Liability Company ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งและสัดส่วนการถือหุ้น คือ Kyocera Corporation, Japan (Kyocera) ร้อยละ 49,Mitsubishi Research Institute, Inc. (MRI) ร้อยละ 34 และ SPCG Public Company Limited (SPCG) ร้อยละ 17 สำหรับบริษัท Sakura Solar Limited Liability Company ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีโครงการที่จะดำเนินการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มเริ่มต้น 5 โครงการคือ 1.Kumamoto (1) Ichinomiya ขนาดกำลังการผลิต 1.9 เมกะวัตต์ 2.Kumamoto (1) Mashiki ขนาดกำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ 3.Kumamoto Kurumagaeri ขนาดกำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ 4.Kumamoto Minamata ขนาดกำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์ และ 5.Kyoto Watsuka ขนาดกำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 66.9 เมกะวัตต์ ซึ่งใช้เงินในการลงทุนประมาณ 235 ล้านบาท โดยมีแผนการลงทุนในปีนี้และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020-2022