งานประชุมวิชาการนานาชาติและนิทรรศการทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (International Conference on Biodiversity) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พ.ค.62 ที่เซนทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซนเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อนำเสนอผลงานและเทคโนโลยีด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นำไปสู่การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจาก บริษัทซินเจนทา ประเทศไทย ผู้นำนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ด้านเกษตรและอาหาร น.ส.วัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ หมอพืชและผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนธุรกิจ ประเทศไทย ซินเจนทา เปิดเผยว่า วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิศาสตร์เขตร้อน กำลังเป็นที่สนใจไปทั่วโลก เนื่องด้วยเป็นเขตที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ปัจจุบันเกิดการสูญเสีย จากปัจจัยต่างๆมากขึ้น เช่น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของชุมชน การใช้ปัจจัยทางการเกษตร โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง เพราะระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร สูญเสียสมดุล โดยการเข้าร่วมจัดงานครั้งนี้ ซินเจนทา ตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะผึ้งและแมลงผสมเกสรที่มีบทบาทหลักในระบบการผลิตอาหารและการเกษตรร้อยละ 90 ของพืชอาหารทั่วโลก อาศัยการผสมเกสรของแมลงขนาดต่าง ๆ หากการผสมเกสรของพืชไม่เพียงพอ จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง คิดเป็นมูลค่า 17.3 ล้านล้านบาท หรือ 577 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น ซินเจนทาได้วิจัยและพัฒนาโครงการรักษาสมดุล สร้างความหลากหลายทางชีวภาพมากถึง 301 โครงการใน 39 ประเทศทั่วโลก ประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากกว่า 31,250 ไร่ และอบรมเกษตรกรไปแล้วกว่า 2,500 รายในปีที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทย ซินเจนทาร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ และศูนย์ผึ้งจันทบุรี เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนผลไม้ จ.จันทบุรี จัดทำโครงการรักษ์ผึ้ง (Bee love project)เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือและสร้างความรู้ระหว่างเกษตรกรชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้ง ขยายผลไปยังกระบวนการผลิตทางการเกษตรด้วยการผสมเกสรของผึ้ง การใช้สารเคมีเกษตรได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลา ลดผลกระทบต่อสุขภาพผึ้ง ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกันเกษตรกรชาวสวนและผู้เลี้ยงผึ้งต่างก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน มีผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น และน้ำผึ้งมีคุณภาพดีได้มาตรฐาน และในเร็วๆนี้ซินเจนทาวางแผนจะก่อตั้งศูนย์เรียนรู้รักษ์ผึ้ง และร่วมกับชุมชนสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของผึ้งและแมลงผสมเกสรในพื้นที่ จ.จันทบุรีและนครสวรรค์ “การแก้ไขปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพจำเป็นต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซินเจนทา พร้อมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านเกษตรและอาหารมาใช้พัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรควบคู่ไปกับการปกป้องรักษาโลกให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วย”