“เชื่อว่าสถานการณ์ที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเจอนั้นจะหนักมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ขณะที่ฝ่ายส.ว.เองก็จะถูกตำหนิติติงอีก เพราะมีที่มาที่ไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก เรียกว่าต้องแบกทั้งสภาล่างและสภาสูง”
หมายเหตุ : “ศักดา นพสิทธิ์” รองเลขาธิการพรรคเพื่อชาติ ให้สัมภาษณ์ “สยามรัฐ” ถึงสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ลงตัวทั้งในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนแนวโน้มการเผชิญกับปัญหาของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. จากนี้ไปเมื่อไม่มีอำนาจพิเศษ “มาตรา 44”ในมืออีกต่อไป มีสาระที่น่าสนใจดังนี้ -มองสถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้งที่ผ่านพ้นมาเกือบ 2 เดือนอย่างไร ถ้าถามถึงความวุ่นวาย ก็คงต้องบอกว่าไม่ใช่ความสับสนวุ่นวายเหมือนกับที่ผ่านมา อย่างการมีม็อบแต่จะมีความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีการแบ่งฝ่ายเป็นสองขั้วคือฝ่ายประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทย กับฝ่ายสืบทอดอำนาจ นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ขณะนี้ทั้งสองขั้วต่างมีคะแนนส.ส.ที่ก้ำกึ่งกันมาก ถ้าพูดถึงความวุ่นวายในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นจะมีด้วยกันสองตัวแปรที่สำคัญตัวแปรที่ 1 คือพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย สองพรรคนี้วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งที่เป็นแกนนำของพรรคไม่แฮปปี้กับการที่ตัวเองสูญเสียฐานคะแนนอย่างหนัก ในพื้นที่กทม.และภาคใต้ สรุปกันว่าน่าจะเป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนที่สองคือพรรคภูมิใจไทยเองก็มีความคาดหวังว่าจะได้ส.ส.จำนวนมาก ถึง65 บวก-ลบ แต่ในความเป็นจริงคือต่ำกว่าเป้า โดยได้มา51 ที่นั่งแต่ก็ถือว่าแฮปปี้ขึ้นมาได้ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์วันนี้เมื่อดูจากสัญญาณ การเลือกหัวหน้าพรรคครั้งล่าสุดที่ได้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ส่งสัญญาณทิ้งไพ่ใบสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง 24 มี.ค.ที่ผ่านมาว่าไม่เอาพลังประชารัฐ เพื่อรักษาฐานเสียง และประเมินแล้วว่าถ้าเลือกกันตามสภาพความเป็นจริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ที่นั่งส.ส.มากกว่านี้ แต่ผลออกมาในทางตรงกันข้าม จึงทำให้นายอภิสิทธิ์ ต้องลาออก การส่งสัญญาณลาออกของนายอภิสิทธิ์ ได้สร้างความคุกรุ่นภายในพรรค ต่อมาเมื่อมีการเลือกหัวหน้าพรรค และได้นายจุรินทร์ ปรากฏว่าอำนาจยังอยู่ในซีกของกลุ่มคุณอภิสิทธิ์ จึงสะท้อนว่าภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความคิดแนวนี้ไม่เข้าพลังประชารัฐ แต่อีกกลุ่มหนึ่งภายในพรรคก็มองว่าหากไม่เข้าเป็นฝ่ายรัฐบาลแล้ว ก็อาจจะยากลำบากในการทำงานการเมืองต่อไป และยังมีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เลยอยากจะเข้าร่วมรัฐบาล มองว่าแม้ที่สุดแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะมีมติในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นมติเพราะอย่าลืมว่ากติการัฐธรรมนูญนั้นกำหนดเอาไว้ว่า มติพรรคไม่ใหญ่ไปกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้เอกสิทธิ์ ส.ส. ดังนั้นจึงบอกว่าแม้จะมีมติของพรรคก็ตาม แต่ก็จะมีทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายที่เข้าร่วมและฝ่ายที่ไม่เข้าร่วมตามคะแนนจากการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่ผ่านมานี่เอง แต่ถ้าหากว่าพรรคประชาธิปัตย์มีมติได้จริงว่า “ไม่เข้าร่วมรัฐบาล”จุดนี้จะเกิดความวุ่นวายชัดเจน นั่นคือจะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ และมติของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทยตามมา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเองพยายามเกาะติดสถานการณ์ว่า ท่วงทำนองของประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วภูมิใจไทยอยากเข้าร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว แต่มองอนาคตตัวเองที่สืบเนื่องมาจากการได้จำนวนส.ส.ที่น้อยจากเป้าที่ตั้งเอาไว้ ดังนั้นถ้าหากพรรคประชาธิปัตย์มีมติว่าไม่เข้าร่วมรัฐบาล แล้ว ภูมิใจไทยยังจะไปเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ก็แสดงว่าตัวเองเป็นเสียงข้างน้อย แต่ก็ยังสามารถตั้งรัฐบาลได้ เพราะอย่าลืมว่าพลังประชารัฐมีเสียงสว.อีก 250 เสียง วันนี้พรรคภูมิใจไทยมองไปถึงอนาคตแล้วว่าถ้าเข้าร่วมรัฐบาล อายุรัฐบาลนี้สั้นแน่นอน จากนั้นจะส่งผลไปถึงตัวพรรคเองในการเลือกตั้งรอบหน้าด้วย ตอนนี้ภูมิใจไทยจึงต้องรอดูท่าทีของประชาธิปัตย์ จึงยังไม่มีการตัดสินใจใดๆออกมา ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีแนวโน้มที่อยากจะไปร่วมรัฐบาลนั้นมีมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ มาดูในฝ่ายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีปัญหา คือแม้จะอยากจัดตั้งรัฐบาลก็จริงอยู่ แต่ทุกวันนี้ก็ต้องเผชิญกับปัญหาภายใน นั่นคือการบริหารจัดการผลประโยชน์ให้กับกลุ่มต่างๆภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มนายกฯ ประยุทธ์ ที่จะต้องมีโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีอยู่ในมืออย่างน้อย 2เก้าอี้ ,กลุ่มของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการเก้าอี้รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเอาไว้ ,กลุ่มสามมิตร- กลุ่มกทม. ที่จะต้องไปแย่งกับกลุ่มภูมิภาค ดังนั้นในการจัดโควต้ารัฐมนตรีในกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยเข้าร่วม สองพรรคนี้จะได้บวก-ลบประมาณ 15เก้าอี้ ก็จะเหลือแค่15เก้าอี้ก็ยังวุ่นวายที่จะต้องเกลี่ยให้กับพรรคร่วมที่ดึงเข้ามา อาทิพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ไปจนถึงพรรคขนาดเล็ก 1 ที่นั่ง เพื่อเอาไว้ดูแลงานการเมืองให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะถ้าพรรคพลังประชารัฐไม่ให้เก้าอี้รัฐมนตรี แก่พรรคเล็กๆ ก็ต้องไปให้เก้าอี้ในส่วนของคณะกรรมาธิการคณะต่างๆ หรือต้องให้โควต้าไปนั่งอยู่ในรัฐวิสาหกิจต่างๆ สิ่งเหล่านี่คือปัญหาภายใน ของพรรคพลังประชารัฐ -ประเมินว่าปัญหาต่างๆจะยืดเยื้อไปนานอีกแค่ไหน เนื่องจากต้องไม่ลืมว่ามีการกำหนดวันประชุมสภาฯออกมาเรียบร้อยแล้ว วันที่24 พ.ค.ที่มีการประชุมเป็นรัฐพิธีนั้นก็ถือเป็นสัญญาณข้อหนึ่งว่า จากนี้ไปจนถึงวันที่ 24 พ.ค.นั้นการรวมขั้วหรือปัญหาต่างๆ นั้นเกลี่ยกันลงตัวแล้วหรือยัง ซึ่งเหลืออีกไม่กี่วันเอง แต่วันนี้เรายังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าฝ่ายไหนจะแตกแถวบ้าง ทั้งสองฝ่ายยังมีการผนึกกำลังกันชัดเจนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพลังประชารัฐหรือฝ่ายพรรคเพื่อไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ยังไม่มีฝ่ายไหนบอกได้ว่า ฝ่ายใดมีตัวเลขในการจัดตั้งรัฐบาลเท่าไหร่ พรรคประชาธิปัตย์แองก็ยังไม่รู้ว่าจะไปทั้งพรรคหรือไม่ ยังไม่เห็นการแตกแถว ว่าพรรคไหนจะไปอยู่ฝ่ายไหน จะมีก็แต่พรรค 6ที่นั่งที่คาดว่าลูกพรรคจะไปหนุนพลังประชารัฐทั้งหมด เหลือหัวหน้าพรรคเอาไว้แค่คนเดียว เพราะไม่อยากให้เสียคำพูดที่ให้ไว้กับพรรคเพื่อไทย ดังนั้นหากฝ่ายค้านยังตรึงตัวเลขเอาไว้ที่ 240 เสียงบวกลบก็ถือว่ารัฐบาลรวมกันเหนื่อยมาก แต่ต้องหมายความว่าได้ประชาธิปัตย์ไปทั้งพรรค ทั้ง 52ที่นั่ง แต่โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไปแค่บางส่วน ณ ชั่วโมงนี้เชื่อว่าประชาธิปัตย์อาจจะมีมติว่าให้เป็นดุลพินิจของสมาชิกพรรค จะเป็นการออกมติในลักษณะ “แทงกั๊ก”เพื่อรักษาดุลภาพภายในพรรคเอาไว้ แต่จะไม่ถึงขนาดที่ว่า “ไม่เอา” เพราะจะเป็นการไปหักพลังประชารัฐ จนเกินไป ให้เป็นเอกสิทธิ์ส.ส. ภายใต้เหตุผลว่าต้องเคารพรัฐธรรมนูญ โอกาสจะออกแบบนี้สูงมาก -สำหรับทิศทางของพรรคเพื่อชาติ วันนี้เป็นอย่างไร เรารู้ว่ามีความพยายามของบางคนนอกพรรคที่ต้องการจะดึงคนของเราไป แต่ที่สุดก็มีการพูดคุยกับสมาชิกพรรคกันแล้วจนเกิดความเข้าใจ สรุปว่าไม่ไปร่วมกับพลังประชารัฐแน่นอน เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าไม่ว่าจะตั้งรัฐบาลโดยฝายไหนก็แล้วแต่ ก็จะเป็นรัฐบาลที่อยู่ไม่ครบเทอมทั้งสิ้น เพราะหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว เมื่อได้รัฐบาลแล้ว รัฐบาลก็ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารไป ส่วนสภาฯก็ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติไป ประเด็นปัญหาของความไม่ราบรื่นของรัฐบาลจะมีผลมาจากการทำงานที่ไม่ราบรื่นของสภาฯนั่นเอง เพราะอย่าลืมว่าเสียงในสภาฯของทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลนั้นก้ำกึ่งกันอยู่ หากรัฐบาลจะขอความเห็นจากสภาฯ ทั้งการแก้ไขกฎหมาย การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการบริหาร การออกกฎระเบียบ ต่างๆ ซี่งจะกลายเป็นความยุ่งยากมาก เนื่องจากคะแนนเสียงไม่ชนะกันเบ็ดเสร็จ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลก็รู้ดี และจะรอเวลาไปสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ ไป คาดว่าบวก-ลบ 6 เดือนฝ่ายค้านก็จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจะเป็นการวัดกำลังกันอีกครั้งหนึ่ง และเชื่อว่าเป็นรัฐบาลผสม พรรคพลังประชารัฐจะไม่สามารถนำเอานโยบายของตัวเองมาใช้ได้เลย และอาจจะเป็นขัอหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามว่าการที่เป็นรัฐบาลแต่ไม่สามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงออกมาได้เลย ก็จะเกิดข้อเรียกร้อง “เชื่อว่าสถานการณ์ที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเจอนั้นจะหนักมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมา อย่างแน่นอนขณะที่ฝ่ายสว.เองก็จะถูกตำหนิติติงอีก เพราะมีที่มาที่ไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก เรียกว่าต้องแบกทั้งสภาล่างและสภาสูง” สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จะทนไม่ได้คือการถูกโจมตีในเรื่องการบริหารงาน โดยเฉพาะในเรื่อการทุจริต ที่ฝ่ายค่านจะนำมาพูดเอาไว้อยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประเด็นต่อมาคือตัวของพล.อ.ประยุทธ์ เองไม่สามารถฟังความเห็นต่างได้ รวมทั้งรัฐมนตรีเองก็ไม่เคยถูกอภิปราย หรือถูกตำหนิต่อหน้าในสภาฯเช่นนี้ ที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลต้องออมาตอบโต้ทุกวันก็ไม่สามารถต้านไหว เพราะฝ่ายค้านมีประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอด และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการที่รัฐบาลหมดดาบอาญาสิทธิ์คือมาตรา44 ไม่มีอีกแล้ว จะทำให้รัฐบาลอายุสั้นทั้งโดยปัจจัยภายนอก และภายใน -ทางออกที่ดีที่สุด คิดว่าหากเป็นทางออกที่ดีและไม่เสียงบประมาณในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจเสียสละได้แล้ว คือเปิดโอกาสให้คนที่เป็นกลางอย่างแท้จริง และไม่มีตำหนิ ขึ้นมาแสดงความสามารถในการบริหาร เชื่อว่าจะดีกว่า แต่สำหรับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ แล้วนั้นมีข้อเปรียบเทียบจากการบริหารงานที่ผ่านมา 5ปี รวมถึงปัญหาต่างๆ ส่วนส.ว.ที่เลือกมาแล้ว จะเป็นอย่างไรก็ให้ดำเนินการต่อไป จะทำให้รัฐบาลที่ไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าไปได้ยาวนานกว่า ที่พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ เสียเอง. เรื่อง : ทีมข่าวการเมือง