จบไม่มีวุฒิกีฬารองรับให้มีแต่วุฒิสายสามัญ สวนทางนโยบายจัดตั้ง ทำเด็กเสียโอกาสสานต่อเป็นนักกีฬาอาชีพ ทั้งมีปัญหาโครงสร้างบุคลากร สนามฝึกซ้อม หลักสูตร แนะยกเป็นสถาบันการกีฬาโดยเฉพาะ ขณะบิ๊กกทม.รับมีปัญหาจริงดังที่ว่า แต่ที่ผ่านมาสามารถผลิตนักกีฬาสร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้ชาติได้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.62 ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากทม.สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 8) ประจำปี 2562 โดยมีผู้บริหารกทม.ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากทม. อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง ที่ประชุมได้มีการพิจารณาวาระสำคัญ ซึ่งสภากทม.ได้มีมติเห็นชอบ ญัตติของนายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ และคณะ เรื่องขอให้กทม.พิจารณากำหนดแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับโรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานครให้มีความชัดเจน เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานของโรงเรียนกีฬาทั้ง 3 แห่งยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีโครงสร้างการบริหารงานในลักษณะที่เป็นโรงเรียนกีฬาตามหลักเกณฑ์ของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และยังไม่เป็นหน่วยงานในโครงสร้างการแบ่งราชการของกทม. เป็นเพียงกิจกรรมการดำเนินงานของศูนย์กีฬาเยาวชน สํานักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว รับผิดชอบในการคัดเลือกนักเรียนเข้าฝึกสอนกีฬา ที่พัก และให้นักเรียนเรียนในหลักสูตรวิชาสามัญที่โรงเรียนสังกัดกทม. ได้แก่ โรงเรียนวิชูทิศ โรงเรียนนาหลวง โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ มีนักเรียนศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 จบการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาสายสามัญไม่ได้รับวุฒิด้านกีฬาแต่อย่างใด ทำให้นักเรียนที่จบไปสูญเสียโอกาสด้านการกีฬาไปสู่ความเป็นเลิศในกีฬาที่ถนัดซึ่งสามารถเป็นอาชีพในอนาคต จึงเห็นว่าควรจะต้องมีการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนให้ชัดเจน ประกอบกับ สามารถพัฒนาบุคลากร นักกีฬาไปสู่ระดับนานาชาติได้ เป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้อง หากส่งเสริมและพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างโรงเรียนกีฬาได้เต็มรูปแบบเชื่อว่าจะยิ่งสร้างนักกีฬาได้ดีขึ้น ทั้งนี้ สมาชิกสภากทม.ได้อภิปรายในประเด็นปัญหาอุปสรรคทั้งโครงสร้าง บุคลากร อัตรากำลัง สนามฝึกซ้อม และหลักสูตรการศึกษา โดยเห็นตรงกันว่าควรจัดตั้งเป็นสถาบันการกีฬาโดยเฉพาะ และยังมีความเห็นต่างในเรื่องหน่วยงานที่กำกับดูแลว่าควรจะอยู่ภายใต้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว หรือย้ายไปอยู่กับสำนักการศึกษา ซึ่งที่ประชุมสภากทม.จะนำข้อเสนอแนะส่งฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า โรงเรียนกีฬากทม.เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2540 ในพื้นที่ศูนย์เยาวชนกทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ภายใต้การกำกับดูแลของกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรมฯ ปัจจุบันเปิดสอน 3 แห่ง ที่ศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนดินแดง เรียนวิชาสามัญที่โรงเรียนวิชากร , ศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนธนบุรี เรียนสามัญที่โรงเรียนนาหลวง และศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชนมีนบุรี เรียนสามัญที่โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ มีนักเรียนกีฬาทั้งหมด 758 คน กีฬา 16 ประเภท สามารถสร้างนักเรียนประสบความสำเร็จด้านกีฬาระดับเยาวชนจนก้าวไปสู่ระดับโลกได้ อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาพื้นฐานกีฬาสู่ความเป็นเลิศ มีลักษณะพิเศษที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีการบริหารจัดการที่มีรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันยังคงมีปัญหาอุปสรรคตามที่สมาชิกสภากทม.เสนอ ทั้งเรื่องโครงสร้าง สถานที่ และการจัดการศึกษา ซึ่งผู้ว่าฯกทม.ได้ให้นโยบายให้ใช้พื้นที่ 14 ไร่ ในบริเวณศูนย์ฝึกอบรมหนองจอก สถาบันพัฒนาข้าราชการกทม. ในการจัดตั้งโรงเรียนกีฬากทม.ที่ได้มาตรฐาน และได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งโรงเรียนกีฬากทม. และแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนกีฬา กทม.แล้ว เพื่อพัฒนาด้านการเรียนการสอนและพัฒนาศักยภาพทางการกีฬาของนักเรียนกีฬากทม.ต่อไป