ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) นำเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตรวจสารเคมีตกค้างในกระแสโลหิตเกษตรกรกลุ่มเสี่ยง พร้อมให้ความรู้ป้องกันโรคไข้เลือดออกระบาด หลังอธิบดีกรมควบคุมโรค คาดการณ์ ในปี 2562 ทั่วประเทศจะมีการระบาดตลอดทั้งปีที่จะพบผู้ป่วย 100,000 ราย วันนี้ (22 พ.ค.62) ที่ศาลาประชาคมบ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายอำนวย ภูทองกลม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านตูม ตำบลบัวบาน (รพ.สต.) เป็นประธานโครงการตรวจสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดเกษตรกร โดยมีนางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านบ้านตูม หมู่ 4 เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านตูม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชาวบ้าน ร่วมโครงการจำนวนมาก นายอำนวย ภูทองกลม ผอ.รพ.สต.บ้านตูม กล่าวว่า ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเฝ้าระวังการเกิดโรคประจำฤดูที่สำคัญ เช่น ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู ไข้หวัด ปอดบวม รวมทั้งโรคภัยที่เกิดจากพฤติกรรมการประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิต การอุปโภคบริโภค ที่เป็นช่องทางรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคประจำตัว เช่น ความดัน เบาหวาน สารก่อมะเร็ง เป็นต้น “เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการเกิดโรคประจำฤดู และอันตรายจากการได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย จึงได้จัดโครงการอบรมให้ความรู้ให้กับ อสม.และชาวบ้าน ด้านการเฝ้าระวัง การป้องกัน โรคไข้เลือดออก รวมทั้งการคัดกรองโรค และตรวจสารเคมีตกค้างในกระแสเลือด โดยจะมีการอบรม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กับกลุ่มเสี่ยงในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ จากการดำเนินการที่ผ่านมา ไม่พบการระบาดไข้เลือดออกในพื้นที่ ขณะที่อัตราการพบสารเคมีตกค้างในกระแสโลหิตเกษตรกรกลุ่มเสี่ยงลดลงปีละ 200 คน” นายอำนวยกล่าว อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เปิดเผยข้อมูล ในโอกาสเป็นประธานการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (15 พ.ค.62) ระบุว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2562 นี้ จะมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและตลอดทั้งปี จะพบผู้ป่วยถึง 100,000 ราย ทั้งนี้จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 พฤษภาคม 2562 พบผู้ป่วย 19,503 ราย เสียชีวิต 25 ราย ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค จึงมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกไม่ให้มีการระบาด ให้หน่วยงานราชการ ติดตามอย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง, ป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิต, การควบคุมยุง โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องให้ครอบคลุมทุกบ้าน ทุกพื้นที่ ทุกสัปดาห์ เช่น สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล, พัฒนาความรู้ของประชาชน ให้เกิดความตระหนักว่าการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เป็นหน้าที่ของทุกคนต้องช่วยกันป้องกัน ด้วยมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่น้ำ เพื่อชุมชนของเราจะได้ไม่มีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ตามมาตรการ 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ให้ทุกอำเภอทบทวนสถานการณ์ในระดับตำบลเพื่อประเมินสถานการณ์โรคไข้เลือดออก, 2.เน้นมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. ซึ่ง 3 เก็บ คือ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ ไม่ให้ยุงลายวางไข่ และ 5 ส.คือ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ สร้างนิสัย ทั้งในที่ทำงาน บ้าน โรงพยาบาล โรงเรียน โรงงาน วัด และ 3.ประเมินความสามารถและทักษะในการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเพื่อวิเคราะห์ ประเมินการปฏิบัติ ออกพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการเชื่อมการเฝ้าระวังไปยังคลินิกเอกชนและร้านขายยาด้วย