สงครามการค้าพ่นพิษฉุดส่งออกเดือนเม.ย.ติดลบ 2.57% มูลค่าต่ำสุดในรอบ 24 เดือน ส่งผล 4 เดือนติดลบ1.86% พาณิชย์ถกเอกชน 29 พ.ค.นี้รับมือ ขณะที่“สมคิด”เรียกทูตพาณิชย์ 31 พ.ค.นี้หารือผลกระทบเทรดวอร์ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกเดือนเม.ย.62 แรงกดดันจากผลกระทบสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และความต้องการสินค้าตลาดโลกลดลง ทำให้เดือนเม.ย.62 มียอดส่งออก 18,555.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าต่ำสุดในรอบ 24 เดือนนับจากเดือนพ.ค.60 โดยนำเข้า 20,012.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 0.72 ขาดดุล 1,457.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่าส่งออก 80,543.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.86 และนำเข้า 79,993.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.08 เกินดุล 549.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการที่สหรัฐฯขึ้นบัญชีบริษัทหัวเว่ยนั้น ผู้ส่งออกไทยบางรายผลิตชิ้นส่วนให้หัวเว่ย ผลกระทบต่อไทยจึงยังไม่มาก สหรัฐฯขึ้นภาษีจีน ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออก โดยมีสินค้าไปสหรัฐฯ 1,500 รายการ เป็นสินค้ากลุ่มเกษตรอาหาร เครื่องเทศเครื่องปรุงรส เสื้อผ้า รองเท้า ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่จีนซื้อจากสหรัฐฯ ไทยมีโอกาสส่งสินค้าไปขายจีนเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้หากต้องการให้การส่งออกของไทยตลอดปีนี้โตเป็นศูนย์หรือเสมอตัว นับจากนี้ไปจะต้องมียอดส่งออกต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 21,493 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ามองว่ากลยุทธ์ที่ไทยจะใช้รับมือสงครามการค้าจะต้องเน้น 2 S ได้แก่ Speed & Strategy คือต้องแสวงหาโอกาสจากส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลงจากสงครามการค้า ขณะเดียวกันต้องรักษาตลาดเดิมเอาไว้ให้ได้ ส่วนค่าเงินบาทกระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯยังไม่ปรับตัวเลขนี้ สำหรับกระทรวงพาณิชย์หารือผู้ประกอบการส่งออกมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์การค้าและปรับพอร์โพลิโอประเทศด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน ด้านการออกไปลงทุนในต่างประเทศจะต้องเป็นการออกไปลงทุนที่ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมในไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะเชิญภาคเอกผู้ส่งออกประชุมหารืออีกครั้งวันที่ 29 พ.ค.62 เพื่อหารือผลกระทบส่งออก และวันที่ 31 พ.ค.62นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจะประชุมกับทูตพาณิชย์ทั่วโลก โดยจะหารือในการรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องจับตาได้แก่ นโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ สถานการณ์ทางการเมืองในยุโรป ตลาดสินเชื่อในจีน อย่างไรก็ตามการส่งออกของไทยยังรักษาระดับการแข่งขันไว้ได้และขยายตัวได้ดีในหลายตลาด เช่น สหรัฐฯ,อินเดีย,เวียดนาม,กัมพูชา,มาเลเซีย,ฮ่องกง,รัสเซีย และแคนาดา สินค้าเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มอาหารยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่น ผัก ผลไม้สดแช่งแข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สด แช่แข็ง สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ