ในยุคของความเจริญทางวัตถุผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อมุ่งหวังว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า น้อยคนที่จะยอมกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิดและร่วมพัฒนาท้องถิ่นให้น่าอยู่ ดังนั้นการสำนึกรักษ์ท้องถิ่นที่อาศัยจึงต้องเริ่มตั้งแต่วัยแรกคลอด ฟูมฟักสร้างสำนึกรักไปทีละนิดๆ ให้เด็กที่จะเติบโตได้มองเห็นชุมชน คนรอบข้าง มากกว่าคิดถึงตนเอง เช่นเดียวกับ นายธิติพงษ์ พิมพ์สอน หรือ ครูบาส แห่งโรงเรียนเทศบาลตำบลบ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น นอกจากเป็นแม่พิมพ์ของชาติแล้ว ยังใฝ่ฝันที่จะปลูกฝังจิตสำนึกเด็กให้มีความรักบ้านเกิดเช่นเดียวกับตัวเขาเอง ทันทีที่จบการศึกษาเอกประถมศึกษา ครูบาสมุ่งสอบบรรจุครูตามความฝัน และได้ทำงานเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจของเทศบาลตำบลบ้านแฮด กระทั่งสอบติดและขึ้นบัญชี โดย ดร.ศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด ได้ทำเรื่องขอบัญชีให้ครูบาสมาบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนเทศบาลบ้านแฮด ครูบาส กล่าวว่า อยากให้เด็กในชุมชนเข้มแข็งไม่หนีไปที่อื่น ซึ่งเป็นเป้าหมายของการสร้างเด็กของตำบลบ้านแฮด ดังนั้นการเรียนการสอนจึงไม่มุ่งหวังเพียงผลสัมฤทธิ์เป็นตัวนำ เด็กทุกคนต้องมีพื้นฐานของการมนุษย์ที่ดี มีความเข้มแข็ง รักบ้านเกิดตัวเอง เพื่อในอนาคตจะได้มาพัฒนาท้องถิ่นได้และต้องปลูกฝังตั้งแต่แรกเกิด โดยที่ทุกคนในชุมชนต้องร่วมด้วยช่วยกันหล่อหลอม “ทุกวันนี้เด็กติดเกม ติดมือถือ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เพราะยุ่งแต่ทำงานหาเงิน เด็กก็ขาดที่พึ่ง ขาดอะไรหลายๆ อย่าง เราในฐานะบุคคลากรและทุกคนของ ต.บ้านแฮด จึงต้องมาช่วยกันบางเบาภาระตรงนี้ อย่างกิจกรรมที่ให้เด็กได้เล่น ก็เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ หากไปบอกเขาว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ดี เขาไม่เชื่อ ต้องมีกิจกรรมเข้ามาช่วย อย่างเช่นตอนนี้มีกิจกรรมการเล่นโรลเลอร์เบรด ผู้ปกครองก็ได้ออกกำลังกายอื่นๆ ระหว่างรอบุตรหลาน ได้ทั้งสองทาง เด็กได้มาออกกำลังกาย มีสมาธิ สุขภาพดีขึ้น เล่นเสร็จก็เหนื่อยกลับบ้านกินข้าวเสร็จ อาบน้ำนอน แทบไม่ได้จับโทรศัพท์เลย ทุกคนก็ชอบ” ครูบาส กล่าว หน้าที่ในการดูแลเด็กไม่ใช่เป็นของพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือครูอีกต่อไปแล้ว เพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป คนในชุมชนจึงต้องมาช่วยกันเพื่ออนาคตของลูกหลาน รวมไปถึงการถ่ายทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันดีงาม จึงเป็นที่มาของหลักสูตร “โรงเรียนตำนานท้องถิ่น” เรียนรู้ประวัติศาสตร์และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ครูบาส ขยายความว่า ทุกวันนี้คนสำนึกรักบ้านเกิดน้อย จึงมีแนวคิดทำหลักสูตรโรงเรียนตำนานท้องถิ่นขึ้น โดยรวบรวมเอาภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน มาร่วมถ่ายทอดให้เด็กๆ ทุกระดับชั้นไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง เวลามีงานบุญประเพณีก็จะนำเด็กเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย “ดังนั้นโรงเรียนตำนานท้องถิ่นจึงเกิดเป็นความผูกพันของคนสามวัย เด็กก็จะซึมซับความหวงแหนบ้านเกิด เมื่อเขาเติบโตเขาก็พร้อมที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดต่อไป ทั้งนี้เรามั่นใจว่าหลักสูตรท้องถิ่นนี้จะสามารถขับเคลื่อนร่วมกับหลักสูตรแกนกลางได้” ครูบาส กล่าวทิ้งท้าย นี่คือส่วนหนึ่งในระบบการดูแลเด็กของเทศบาลตำบลบ้านแฮด หนึ่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตัวอย่างของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของแผนสุขภาวะชุมชน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่คณะผู้บริหารได้เล็งเห็นความสำคัญถึงงานด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดให้มีประสิทธิภาพด้วยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน