กรมวิชาการเกษตร ปลื้มเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยาม GAP และสวนเกษตรกรอินทรีย์เมืองจันทร์ คว้า2 รางวัลเกษตรกรดีเด่นด้านGAP-เกษตรอินทรีย์ระดับชาติ พร้อมรับประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2562 นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ในฐานะรองประธานคณะทำงานคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นด้านการผลิตพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้แต่ละหน่วยงานคัดเลือกเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และสหกรณ์ที่มีผลงานดีเด่นตามสาขาอาชีพที่กำหนด เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักยึดถือเป็นแบบอย่างในการทำการเกษตรที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในปีนี้ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรได้พิจารณาเกษตรกรที่ผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อเข้ารับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำ ปี 2562 จำนวน 2 สาขา คือ สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) ได้แก่ นางอัมพร สวัสดิ์สุข เจ้าของแปลงส้มโอทับทิมสยาม ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนสาขาเกษตรอินทรีได้แก่นายรัฐไท พงษ์ศักดิ์ เจ้าของสวนผลไม้อินทรีย์ อ.มะขาม จ.จันทบุรี ซึ่งเกษตรกรดีเด่นทั้ง 2 สาขา ได้รับการเชิดชูเกียรติเกษตรกรเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง สำหรับนางอัมพร นับเป็นเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาแปลงส้มโอทับทิมสยามระบบ GAP จนเป็นที่ยอมรับของตลาดและผู้บริโภค ปัจจุบันได้ปลูกส้มโอทับทิมสยามบน พื้นที่ 19 ไร่มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตปีละไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของกรมวิชาการเกษตร ในการส่งเสริมเกษตรกรผลิตพืช/ผลไม้ให้มีคุณภาพมาตรฐานปลอดภัยจากสารตกค้าง จนสร้างความเชื่อมั่นและยอมรับแก่ผู้บริโภคและตลาดอย่างกว้างขวางและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เกษตรกรรุ่นต่อไปในอนาคต โดยความสำเร็จของนางอัมพร เกิดจากการสมัครเข้าสู่ระบบ GAP กับกรมวิชาการเกษตรแล้วได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยมุ่งเน้นที่จะผลิตส้มโอให้ได้คุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง มีการกำจัดวัชพืชโดยการตัดหญ้าแทนการใช้ สารเคมี และนำเศษวัชพืชมาคลุมโคนตันเพื่อรักษาควานขึ้นในดิน มีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยลดการพังทลายของดิน และช่วยดูดซับสารเคมีไม่ให้ไหลลงคู่แหล่งน้ำ รวมทั้งยังสามารถนำหญ้าแฝกมาหั่นย่อยทำเป็นปุยหมักใช้ใน สวนส้มโอได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ นางอัมพร ยังทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำมาใช้เสริมร่วมกับการใช้ปุยเคมี ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งยังแนะนำเกษตรกรในกลุ่มให้ใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย โดยเฉพาะก่อนใช้ให้มีการสำรวจศัตรูพืชก่อนและงดเว้นสารเคมีต้องห้าม (ว.4) การทำสวนส้มโอ ได้เข้าสู่ระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ตามมาตรฐานการรับรองการผลิต GAP ของกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2547 ได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืช (ส้มโอ) รหัสรับรอง กษ 03-02-3601-6034-136 ในฐานะผู้ผลิตส้มโอคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย จนเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นกับผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกรในตำบลคลองน้อยและตำบลใกล้เคียง ทางด้านเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว ก่อนการเก็บเกี่ยว 1 เดือน จะงดการฉีดพ่นสารเคมีทุกชนิด เนื่องจากหลีกเลี่ยงสารเคมีตกค้างในผลผลิตโดยหากมีปัญหาโรคแมลงในช่วงนั้นจะใช้สารสกัดจากพืช หรือวัชภัณฑ์ แทน ช่วงการสุกแก่เมื่อผลส้มโอแก่ อายุ 8 เดือน โดยใช้กรรไกรตัด วางในตะกร้าและจำหน่ายที่กลุ่มซึ่งตนเองเป็นประธานกลุ่ม ทำการคัดแยก บรรจุลงกล่องส่งผลผลิตไปยังลูกค้ากลุ่มต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ส่งผลให้ปัจจุบัน นางอัมพร มีรายได้จากการปลูกส้มโอ GAP ประมาณปีละ 3.2 ล้านบาท แบ่งเป็นจำหน่ายผล 10,000 ผลๆ ละ 200 บาท รวม 2 ล้านบาท และรายได้การขายต้นพันธุ์ 5,000 ต้นๆ ละ 250 บาทสร้างรายได้อีก 1.2 ล้านบาท/ปี รายได้ดังกล่าวกำไรสุทธิ 2 ล้าน ส่วน นายรัฐไท พงษ์ศักดิ์ เจ้าของรางวัลสาขาเกษตรอินทรีย์ นับเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ได้รับการยอมรับและเชื่อเสียงในการปลูกผลไม้อินทรีย์ในจังหวัดระยอง ปัจจุบันนายรัฐไทยเป็นประธานศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านปัถวีและเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่ผ่านปัญหามาสารพัด แต่หลังจากเข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์และได้รับการรับรองการผลิตพืชอินทรีย์จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร จนสามารถนำใบรับรองไปใช้ในการจำหน่ายผลผลิตให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศและยื่นขอต่ออายุการรับรองมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบัน นายรัฐไท วางเป้าหมายที่จะนำสมาชิกจำนวน 30 รายยื่นขอรับรองมาตรฐานอินทรีย์แบบกลุ่ม เพื่อรวบรวมผลผลิตจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มีความต้องการผลไม้อินทรีย์เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันได้รวบรวมผลไม้อินทรีย์จากสมาชิกที่มีใบรับรองแล้ว ส่งจำหน่ายไปยังบริษัทเอกชน 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้แก่ 1.บริษัท เนชั่น พรีเมี่ยมแอนด์ฟรุ๊ต จำกัด เพื่อส่งออกต่อไปยังกลุ่มประเทศยุโรป 2.บริษัท พีแอนด์เอฟ จำกัด เพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น และ 3.ห้างสรรพสินค้า ท๊อปซุปเปอร์มาเก็ต ได้ซื้อผลไม้ไปจำหน่ายแบบซื้อขาด โดยในปี 62 ที่ผ่านมา นายรัฐไทย ได้ผลิตผลไม้ระบบอินทรีย์ ประกอบด้วย มังคุด เงาะ ลองกอง และทุเรียน รวมปีละ 12 ตันสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท “กรมวิชาการเกษตรจะเร่งขับเคลื่อนเพื่อเดินหน้าส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วประเทศเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP และอินทรีย์อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่เกษตรทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยนอกจากการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญอันดับต้นๆของโลกแล้ว ประเทศไทยยังมีความเหมาะสมและมีศักยภาพที่จะผลิตผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดโลกมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่คำนึงถึงสุขอนามัยความปลอดภัยในการบริโภคและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” นางสาวปรียานุช กล่าว