กรมหม่อนไหม หนุน “กวนนิโตพาทิสเซอรี” ร้านเบเกอรี่ ชื่อดังเมืองตรังพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูป “ขนมโอปันยากิ-เครปโรลไส้ลูกหม่อน” จนกลายเป็นขนมยอดฮิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรในชุมชนบ้านนาโยง นายมงคล คงบัน เจ้าของร้านกวนนิโตพาทิสเซอรี เบเกอร์รี่ชื่อดัง ต.นาโยงใต้ อ.เมือง จ.ตรัง เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนผลผลิตหม่อนผลสด หรือ “มัลเบอร์รี่” ของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลนาโยง โดยรับซื้อลูกหม่อนผลสดผลไม้พื้นบ้านแบบไทยๆ มาแปรรูปเป็นไส้ขนมโอปันยากิ (Obanyaki) หรือ “ขนมครกญี่ปุ่น” เครปโรล และ “น้ำมัลเบอร์รี่” จนเป็นเมนูขึ้นชื่อของทางร้านที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวตรังและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งนี้ ช่วงริเริ่มรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่นาโยงกิโลกรมละ 200 บาท ซึ่งราคาค่อนข้างสูงเลยนำมาผลิตเป็นน้ำดื่มมัลเบอร์รี่ หลังจากมีการขยายพื้นที่การปลูกจนมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นราคาลดลงเหลือกิโลกรัมละ 120-150 บาท จึงเริ่มนำผลผลิตมาแปรรูปเป็นไส้โอปันยากิ และเครปโรลมัลเบอร์รี่ พร้อมเซิฟสไตล์ญี่ปุ่น คือ ทำเป็นคำๆ เหมือนชูชิเพื่อให้กินง่ายและดูสวยงามและสร้างมูลค่าเพิ่มของเบอเกอร์รี่ให้มีราคาเพิ่มขึ้นไปอีก โดยกำหนดราคาจำน่ายถาดละ 89 บาทหรือตกชิ้นละ 9-10 บาท โดยรับซื้อลูกหม่อนจากเกษตรกรทุกวันๆละ 15-20 กก. ซึ่งไม่คิดว่าจะมีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคจนบางวันผลิตไม่ทันโดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ เนื่องจากผลหม่อนนั้นเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ลดคอเลสเตอรอล บำรุงสมอง บำรุงสายตาและป้องกันโรคมะเร็ง ทั้งนี้ จากกระแสตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆตนมีแผนขยายกำลังการผลิตเพื่อตลาดไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย สำหรับแนวคิดในการแปรรูปลูกหม่อนผลสด ได้รับสนับสนุนจากกรมหม่อนไหม ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหม่อนที่ให้การส่งเสริมการปลูกแก่เกษตรกรและสนับสนับการแปรรูปต่อยอดผลผลิตของทางร้าน ซึ่งปัจจุบันนอกจากลูกหม่อนแล้วตนยังรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ ขนุน ลูกตาล มะพร้าว มะม่วง สาเกมาแปรรูปเป็นเครปโรลไส้ฝอยทองและไส้ต่างๆสีสันสวยงามอีกด้วย จากกความสำเร็จดังกล่าวปัจจุบันรับเป็นวิทยากรถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นๆใหม่ในการนำผลผลิตในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพแบบยั่งยืนในอนาคต ด้าน นางณัฐยมน พุฒนวล ผู้นำกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตรการปลูกมัลเบอร์รี่ ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง จ.ตรัง กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ นราธิวาส กรมหม่อนไหมในการพัฒนาและยกระดับการปลูกหม่อนผลสดภายใต้มาตรฐาน GAP เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น โดยครอบคลุมพื้นที่ 5 ไร่ มีสมาชิกและเครือข่าย จำนวน 25 คน ปริมาณผลผลิตประมาณ 1,350 กิโลกรัมไร่ต่อปี มีการวางแผนการจัดการภายในแปลงตามหลักวิชาการใช้วิธีการดูแลแบบธรรมชาติเพื่อให้ผลผลิตออกมามีคุณภาพดี และปลอดสารพิษ 100% นอกจากนี้ มีการพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตจากเดิมผลผลิตอยู่ที่ 270 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 405 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี โดยมีราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท กลุ่มมีรายรับสุทธิต่อปีอยู่ที่ 142,800 บาท/ปี และได้นำผลผลิตมาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ มัลเบอรี่พร้อมดื่ม แยมมัลเบอรี่ ข้าวเกรียบมัลเบอรี่ มัลเบอรี่กวน สบู่มัลเบอรี่ และมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามและมีมาตรฐาน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพที่ต้องการประโยชน์ด้านการบำรุงสมอง และร่างกาย ส่งผลให้สินค้าหม่อนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น มีแหล่งจำหน่ายที่กลุ่ม การจำหน่ายในโรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นหลัก