กรมพัฒนาที่ดิน งัดมาตรการเด็ด ชู “บ่อจิ๋วสู้ภัยแล้ง” พร้อมออกมาตรการระยะสั้น ระยะยาว ลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงภัยแล้ง ปัจจุบันสถานการณ์ภัยแล้งภาคเกษตร ในพื้นที่บางแห่งที่มีปริมาณน้ำน้อย ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทางการก็ได้ประกาศเตือนให้เกษตรกร งดการปลูกข้าวนาปรังลง ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดี แต่บริเวณที่น่าเป็นห่วงยังคงเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วเกษตรกรจะไม่ทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งอยู่แล้ว แต่เกษตรกรจะเกิดการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดสำหรับการอุปโภคและบริโภค นายถวิล มั่งนุ้ย รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน มีมาตรการและแนวทางในการป้องกัน และจัดการพื้นที่ประสบภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ช่วยลดความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง โดยมีมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้ ระยะสั้น การเตือนภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง ช่วงที่ฝนทิ้งช่วง การเฝ้าระวังพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากเป็นพิเศษ โดยการคาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่ทำการเกษตรก่อนช่วงฤดูแล้ง และช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเพาะปลูกพืช เพื่อให้เกษตรกรได้มีการวางแผนให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ และการคาดการณ์พื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้งหรือได้รับความเสียหาย เพื่อประเมินความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ในส่วนระยะยาว กรมพัฒนาที่ดินส่งเสริมการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น การทำฝายชะลอน้ำ บ่อดักตะกอน คันดินรับน้ำรอบขอบเขา และการปลูกหญ้าแฝก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและกักเก็บน้ำ และยังช่วยลดปัญหาการกสูญเสียหน้าดิน การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นา โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน การพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน ที่มีขนาดพอเหมาะกับกับขนาดของชุมชน เพื่อให้ชุมชนหรือเกษตรกรที่มีน้ำไม่เพียงพอในการทำเกษตรกรรม สามารถใช้เก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และเป็นการช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินด้วย การพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น การขุดลอกหนองน้ำ สระเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำ และการทำระบบส่งน้ำในไร่นา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำส่งเสริมการใช้สารเร่ง พด.1 ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย การปลูกพืชคลุมดิน พืชตระกูลถั่วต่างๆ การจัดทำแผนที่พื้นที่แห้งแล้งซ้ำซาก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งในเชิงพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และรณรงค์ให้เกษตรกรใช้วิธีการไถกลบตอซังพืชทดแทนการเผา เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และยังช่วยลดปัญหาหมอกควันไฟในช่วงฤดูแล้งได้อีกทางหนึ่ง