เกษตรกรหนี้สิน กฟก. 3.6 แสนราย เฮลั่นทุ่ง ครม.ไฟเขียว ปรับเกณฑ์แก้หนี้ชัดเจน เปิดช่องกองทุนฟื้นฟูฯเข้าซื้อหนี้-ชำระหนี้แทนเกษตรกร ต่อลมหายใจรอดพ้นโดนยึดที่ดินทำกิน เมื่อวันที่ 21 พ.ค.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) ใน 3 ประเด็นโดยให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯที่มีตัวแทนเกษตรกร และกรรมการผู้ทรงวุฒิ มีวาระคราวละ 2 ปี ขยายวาระเป็น 4 ปี ซี่งประหยัดงบประมาณในการเลือกตั้งได้ 89 ล้านบาท และในระหว่างเลือกตั้ง หรือกำลังสรรหาใหม่ ให้คณะกรรมการชุดเก่า ทำงานในตำแหน่ง ต่อไปได้ไม่ให้ขาดตอน และกำหนดระยะเวลา 120 วัน ดำเนินการเพื่อให้ได้กรรมการชุดใหม่ นอกจากนี้ให้คณะกรรมการกองทุนฯมีอนุมัติ ตั้งสำนักงานใหญ่ของกองทุน สามารถไปตั้งในต่างจังหวัดได้ เนื่องจากสำนักงานใหญ่ ที่ตั้งในพื้นที่องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.)หมดสัญญาเช่า และราคาเช่าแพงมาก ไม่สามารถหาที่ในกรุงเทพฯได้ จึงจะไปหาที่ตั้งในต่างจังหวัด เพื่อจะทำงานใกล้ชิดเกษตรกร มากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ให้แก้ไขอำนาจหน้าที่กองทุนให้สามารถเข้าไปซื้อหนี้ หรือชำระแทนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ซึ่งเป็นหนี้ ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และหนี้ที่มีบุคคลค้ำประกัน โดยจะต้องกำหนดในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งการพิจารณาคุณสมบัติเกษตรกรเป็นไปตามระเบียบ จะมีผลบังคับใช้หลังจากกฏหมายนี้ผ่านสภาสมัยหน้า “เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯทั้งหมดกว่า 3.6 แสนราย มูลค่าหนี้ 5.6หมื่นล้านบาท ได้รับอนิสงค์ ครม.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้าซื้อหนี้จากธนาคารเจ้าหนี้ และชำระหนี้แทนเกษตรกร ทั้งหนี้หลักทรัพย์ค้ำประกันและหนี้บุคคลค้ำ ประมาณ2.4แสนราย มูลค่าหนี้2.4หมื่นล้านบาทโดยกลุ่มแรกที่กองทุนฯเข้าซื้อหนี้ 8หมื่นราย มูลค่าหนี้ 6 พันกว่าล้านบาท เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)และสหกรณ์การเกษตร ที่เกษตรกรยื่นผ่านกองทุนฯเข้าสู่การปรับโครงการสร้างหนี้ไว้แล้ว รัฐบาลนี้ช่วยต่อลมหายใจเกษตรกรไม่ให้ที่ดินทำกินหลุดมือพร้อมมีโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพอย่างเข้มแข็งยั่งยืนด้วย”นายกฤษฏา กล่าว กระทรวงเกษตรฯได้เสนอร่างกฏหมายปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ การชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและบุคคลค้ำประกัน ได้กำหนดวิธีการในการชำระหนี้แทนเกษตรกรให้ชัดเจน โดยให้กองทุนฯชำระหนี้แทนได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตการชำระหนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรเดือดร้อนจากหนี้สินที่มีปัญหามากยิ่งขึ้น