สธ.กาญจนบุรี จัดทอดผ้าป่าสามัคคีสมทบทุนจัดตั้ง "กองทุนผู้ป่วยวัณโรค จังหวัดกาญจนบุรี" ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) ต.บ้านใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี วันที่ 21 พ.ค.62 (แรม 3 ค่ำ เดือน หก) ปีกุน เวลา 13.30 น. นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า " จังหวัดกาญจนบุรีประสบปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคและวัณโรคดื้อยาหลายขนานในหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี โดยความเมตตาของพระเดชพระคุณพระราชวิสุทธิเมธี เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี และเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระอารามหลวง และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรพงษ์ ตันธนศรีกุล อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำริจัดตั้ง “กองทุนผู้ป่วยวัณโรค จังหวัดกาญจนบุรี” ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะระดมกำลังจากพี่น้องชาวกาญจนบุรี ช่วยเหลือผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งเป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรีด้วยกัน โดยอาศัยแนวคิด “คนละไม้ คนละมือ” ไม่ถือเขาถือเรา ไม่แยกเชื้อชาติ ศาสนา หากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีและเป็นวัณโรคแล้ว เราจะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เขาหายขาดจากวัณโรคที่เป็นอยู่ และไม่แพร่เชื้อไปสู่ประชาชนของจังหวัดกาญจนบุรีต่อไป นับเป็นบุญมหากุศลอันยิ่งใหญ่ต่อผู้ป่วยวัณโรคจังหวัดกาญจนบุรี ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงเป็นพลวปัจจัย โปรดอำนวยพรให้ท่านพร้อมทั้งครอบครัว ประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนานุภาพ กอปรด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ และเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ทั้ง 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติ ในทุกที่ ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ จากนั้น นพ.พนัส โสภณพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย นพ.อิทธิพล จรัสโอฬาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะการักษ์ นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจรบุรี นายนุชชา เจริญโห้ สาธารณสุขอำเภอเมืองกาญจรบุรี และคณะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจและภาคีเครือข่ายสุขภาพ ร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) นับเป็นกิจกรรมสาธารณประโยชน์ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักและให้ความสำคัญในการรักษาความสะอาดของบ้านเรือน ถิ่นฐานที่อยู่ โดยช่วยกันค้นหาและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ตามมาตรการ “3 เก็บ 3 โรค” ได้แก่ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และเก็บน้ำ ปิดให้มิดชิดหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ ไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยใช้กลไก พชอ. ทำแผนรณรงค์ในพื้นที่สาธารณะ โดยเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนและชุมชน โดยเฉพาะสถานที่สาธารณะที่เป็นแหล่งชุมชน เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว สถานประกอบการ สถานที่ราชการต่างๆ รณรงค์จัดกิจกรรมให้ทุกคนร่วมกันสำรวจลูกน้ำยุงลายตามแจกัน จานรองกระถางต้นไม้ หรือแหล่งน้ำขัง หากพบลูกน้ำให้คว่ำหรือทำลายแหล่งน้ำขังนั้นทันที และหมั่นเปลี่ยนน้ำเป็นประจำ หรือใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลากัด เป็นต้น เพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกอีกด้วย