“กฤษฏา” จี้เอกชนส่งนมโรงเรียนทั่วประเทศตามสัญญาในวันนี้ ครบ 5 ภูมิภาค พร้อมสั่งปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจนับทุกโรงเรียน ชี้จำนวนเด็กน้อยลงกว่าปีที่แล้วถึง 4.6 หมื่นคน เร่งเครื่องรีเซ็ทระบบป้องโควตาลม เมื่อวันที่ 21 พ.ค.62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้สั่งการเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดไม่ยอมไปส่งนมให้เด็กนักเรียนตามที่ได้โควตา และข้อตกลงกันไว้ทำให้นักเรียนไม่มีนมดื่มในวันนี้ (21 พ.ค. 62)โดยไม่มีเหตุผลให้รวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมดังกล่าวส่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ส่งให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกลุ่มพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานเสนอคณะทำงานพิจารณาโทษเพื่อตรวจสอบและลงโทษเช่น พิจารณาตัดโควต้าจำหน่ายในภาคการศึกษาต่อไปโดยเคร่งครัด ทั้งนี้มอบหมายให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อ.ส.ค.) พร้อมที่จะส่งนมทดแทนแก่โรงเรียนที่ผู้ประกอบการไม่ไปส่งนมโรงเรียนด้วย ในปีการศึกษา 2562 จำนวนนักเรียนจากฐานข้อมูลล่าสุดที่ได้รับจากกระทรวงศึกษาธิการ ที่นำมาคำนวนโควตาจัดสรรนมโรงเรียนให้มี 7,418,889 คน ส่วนปีการศึกษา 2561 มีนักเรียน 7,465,061 คน ลดลง 46,172 คน คำนวณแล้วใช้น้ำนมเพื่อผลิตนมโรงเรียนในปีนี้ 1,078.09 ตันต่อวัน ขณะที่ปีที่ผ่านมาใช้ 1,169.708 ตัน ลดลง 91.618 ตัน ดังนั้นผู้ประกอบการ 65ราย ที่ทุกรายจะได้รับการจัดสรรสิทธิน้อยลงตามสัดส่วนจำนวนนักเรียนที่น้อยลงด้วย จึงให้กรมปศุสัตว์เร่งทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยืนยัน ไม่ใช้เด็กเป็นตัวประกัน พร้อมส่งนมทั่วประเทศ สำหรับผู้ประกอบการบางรายที่ยังคงอ้างว่า ได้รับการจัดสรรปริมาณส่งนมโรงเรียนไม่เป็นธรรมนั้น ทางคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนได้ดูแลให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ระดับกลุ่มพื้นที่ 5 กลุ่มซึ่งมีการเลี้ยงโคนมมากพิจารณาจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายนมโรงเรียน ตามข้อกำหนดในแนวทางปฏิรูปการบริหารจัดการนมโรงเรียนตามที่ครม. เห็นชอบ โดยใช้ทั้งข้อมูลจำนวนนักเรียน ปริมาณน้ำนมที่ผู้ประกอบการรวบรวม ได้ และขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการให้บริการนมโรงเรียนในพื้นที่มาใช้ในการคำนวณ นอกจากนี้ยังได้กำชับปศุสัตว์จังหวัดให้ตรวจสอบทั้งปริมาณน้ำดิบ เป็นนมโคแท้หรือไม่ พร้อมกับทดสอบเนื้อนม ว่ามีปริมาณที่มีคุณภาพและตรวจนับเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำนม (Somatic Cell) ให้เป็นไปตามมาตรฐานนมโรงเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้มีนมตกคุณภาพหรือบูดเสีย ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการรายใดรู้สึกว่า การจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วฟ้องศาลได้ตามขั้นตอนของกฎหมายได้ทันที ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ พร้อมดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล ขอให้แยกประเด็นการส่งนมกับข้ออ้างเรื่องการจัดสรรไม่เป็นธรรมออกจากกันด้วย จะอ้างเป็นเหตุระงับไม่ยอมไปส่งนมไปยังโรงเรียนในบางพื้นที่ตามสัญญาที่มีอยู่แล้วไม่ได้ โดยมอบหมายให้ปศุสัตว์จังหวัดประสานขอความร่วมมือเกษตรจังหวัดทุกจังหวัดสั่งการให้เกษตรอำเภอทุกอำเภอลงไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่ทุกแห่งเพื่อสอบถามครู อาจารย์และนักเรียนว่า ได้รับนมตามสัญญาถูกต้องหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบคุณภาพน้ำนมด้วย แล้วให้รายงานปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของผู้บริหารโรงเรียนมายังส่วนกลางอีกทั้งให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดประสานงานกับปศุสัตว์จังหวัดเพื่อเข้าไปพบ แล้วรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับการสถานภาพโครงการนมโรงเรียนให้ทราบทุกระยะ หากมีปัญหาต้องขอความกรุณาผู้ว่าฯ สั่งการหรือประสานงานในอำนาจหน้าที่ของจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน “ได้สั่งการให้อธิบดีกรมปศุสัตว์ตั้งศูนย์บริหารจัดการโครงการนมโรงเรียนไว้ในส่วนกลางเพื่อประสานงานและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ทั่วประเทศอย่างทันท่วงที”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ เร่งทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนด้วยว่า ขณะนี้จำนวนนักเรียนในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจึงมีผลให้ปริมาณความต้องการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนลดลงด้วย ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องเตรียมแผนการตลาดและการเลี้ยงโคนมให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการ (Demand) นมในตลาดด้วย ด้าน นายสัตวแพทย์ณรงค์ เลี้ยงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ เลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนกล่าวว่า ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศรายงานว่า ผู้ประกอบการทุกรายยืนยันว่า พร้อมส่งนมถึงโรงเรียนวันนี้ ส่วนปัญหาที่ผู้ประกอบการบางรายในกลุ่ม 5 ซึ่งจำหน่ายนมในภาคกลางฝั่งตะวันตกและภาคใต้ระบุว่า ต้องขนส่งเป็นระยะทางไกลนั้น หลังจากหารือแล้วผู้ประกอบการยินดีส่งนมตามที่ตกลงกัน ไม่ให้เด็กนักเรียนได้รับผลกระทบ จึงคาดว่า ไม่น่ามีปัญหา โดยปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัดจะตรวจสอบและติดตามให้เป็นไปตามสัญญาโดยเคร่งครัด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จะนัดประชุมสหกรณ์โคนมที่ได้รับโควต้าจำหน่ายนมลดลง โดยประชุมที่สหกรณ์โคนมนครปฐม เพื่อพิจารณาว่า เป็นการตัดลดที่เป็นธรรมหรือไม่ โดยผู้ประกอบการทุกรายยืนยันว่า จะส่งนมให้แก่โรงเรียนตามพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรโควตาแน่นอน ทั้งนี้ โครงการนมโรงเรียน เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาน้ำนมโคล้นตลาด มีองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย(อ.ส.ค.)ทำหน้าที่หน่วยงานกลางบริหารจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ เป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบการ65-67ราย ใช้งบ1.4หมื่นล้านบาท ต่อปี เป็นงบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซื้อนมให้กับโรงเรียนในสังกัด และกระทรวงศึกษาธิการ ให้กับโรงเรียนเอกชน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่6 โดยสหกรณ์โคนมแต่ละพื้นที่ ทำข้อตกลง ผู้ประกอบการ ศูนย์รวบรวมนม และเกษตรกรเลี้ยงโคนมทั่วประเทศ กว่า7แสนตัว ในปริมาณน้ำนมดิบ 3.3พันตันต่อวัน เข้าระบบนมโรงเรียนกว่า 1.1พันตัน ส่วนที่เหลือไปเข้าระบบนมพาณิชย์ในเงื่อนที่เอกชนผลิตนมพาณิชย์ ต้องรับซื้อน้ำนมดิบด้วย เพื่อนำไปแลกโควตาขอนำเข้านมผงในอัตราภาษีต่ำ ที่ผ่านมา เกิดปัญหารื้อรังทั้งวางบิลลม โควตาลมเกินจำนวนเด็กนักเรียน แจ้งตัวเลขปริมาณน้ำนมดิบเกินจริง ทั้งศูนย์รวบรวมนมดิบ สหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการ จึงเกิดปัญหาฟ้องร้องมาต่อเนื่องอีกทั้งปัญหาซ้ำซากทุกปีในเรื่อง นมบูดเสีย ตกคุณภาพ โดยรมว.เกษตรฯ เสนอครม.ชุดปัจจุบัน จึงมีการปฏิรูประบบนมโรงเรียนใหม่ แยกอำนาจบริหารออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม(มิลค์บอร์ด)ที่มีปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ได้เกลี่ยแบ่งกระจายการสรรสิทธิ(โควตา)ลงรายพื้นที่5ภูมิภาคให้ผู้ว่าราชการจังหวัด5จังหวัดที่มีการเลี้ยงโคนมจำนวนมากเป็นประธานคณะกรรมการบริหารนมฯ