วันที่ 20 พ.ค.รองศาสตราจารย์ วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Dr.Winai Dahlan ระบุข้อความว่า พวกเราจำนวนไม่น้อยชอบกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ผ่านกระบวนการถนอมอาหาร ที่เรียกกันว่าเนื้อถนอมหรือ cured meat และเนื้อปรุงหรือ processed meat เนื้อพวกนี้เก็บไว้ได้นาน ไม่เน่าเสียได้ง่าย ใช้วิธียับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย โดยใช้เกลือหรือน้ำตาลที่นิยมมากคือใช้เกลือไนเตรต/ไนไตรท์เข้าไปทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็กในเนื้อเปลี่ยนสภาพฮีโมโกลบินและไมโอโกลบินให้ต่างไปจากเดิมกระทั่งแบคทีเรียนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เนื้อจึงไม่บูดหรือเสีย ทั้งช่วยให้เนื้อดูออกสีชมพูหรือแดงน่ากิน อีกวิธีหนึ่งที่นิยมกันมากคือการรมควันซึ่งจะทำให้ผิวด้านนอกของเนื้อถูกเคลือบด้วยสารเคมีจากเปลือกไม้ ทำให้แบคทีเรียชอนไชเข้าไปทำลายเนื้อภายในได้ยากขึ้น เนื้อปรุงหรือเนื้อถนอม นิยมใช้เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อม้า เนื้อปลาหรือสัตว์ชนิดอื่น เนื้อประเภทนี้ที่รู้จักกันดีคือ แฮม เบคอน ไส้กรอกหรือซอสเซส โบรอกน่า พาร์มาแฮมหรือพรอสซูโต ซาลามี เจิร์กกี ในบ้านเราอย่างเช่น ไส้อั่ว แหนม กางปาหรือเนื้อน้ำค้างที่คนจีนฮ่อทางภาคเหนือนิยมทำกัน มีผลงานวิจัยในประชากรกลุ่มใหญ่ชื่อว่า the European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition หรือ EPIC ทำร่วมกันโดยประเทศในยุโรปสิบประเทศมีคนยุโรปเข้าร่วมประมาณ 4.5 แสนคน มีอายุอยู่ในช่วง 35-69 ปี ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Medicine เมื่อเดือนมีนาคม 2013 ให้ข้อสรุปว่าหากตัดการบริโภคเนื้อกลุ่มนี้ลงไม่ว่าจะเป็นเนื้อปรุงหรือเนื้อถนอมจะทำให้อายุยืนยาวขึ้น โดยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งและโรคอื่นๆ สิ่งที่ทีมวิจัยพบคือการกินเนื้อปรุงหรือเนื้อถนอมปริมาณ 50 กรัมต่อวันทุกวันเทียบเท่ากับฮอทด็อกหนึ่งชิ้นหรือไส้กรอกแท่งยาวหนึ่งชิ้นที่คนเยอรมันเรียกว่าแฟรงค์เฟอร์เตอร์ ความเสียงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงถึง 18% แม้แต่คนที่นิยมบริโภคเนื้อแดงอย่างเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อสัตว์บกทั้งหลายหากบริโภคมากกว่า 18 กรัมต่อสัปดาห์ซึ่งเทียบได้กับการบริโภคเบอร์เกอร์ชิ้นเล็กๆทุกวันจะเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น จากข้อมูลดังกล่าว สรุปเอาว่าหากใครประสงค์จะยืดชีวิตหรือลดความเสี่ยงต่อมะเร็งแนะนำให้เลี่ยงการบริโภคเนื้อปรุง เนื้อถนอมทั้งหลาย ส่วนเนื้อแดงแม้จะไม่ปรุงหากลดลงบ้างก็ยิ่งดี