นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนที่มากขึ้น ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยมากขึ้น ทำให้ราคาเป็นส่วนสำคัญในการจูงใจให้เกษตรกรในหลายๆ พื้นที่หันมาเลือกที่จะปลูกทุเรียนกันมากขึ้น จากข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4 ปีที่ผ่านมา (2558-2561) ประเทศไทยส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีจีนเป็นตลาดหลักในการรองรับผลผลิตซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2562 ผลผลิตทุเรียนสูงสุดในรอบ 10 ปี ทุเรียนภาคตะวันออก มีปริมาณเท่ากับ 511,827 ตัน ทุเรียนภาคใต้ มีปริมาณเท่ากับ 343.082 ตัน อีกทั้งปริมาณการส่งออกทุเรียนเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ในขณะที่พื้นที่ปลูกทุเรียนมีกระจายหลายภาคทั่วประเทศ เกษตรกรต่างขายผลผลิตโดยไม่มีองค์กรกลางดูแลซึ่งในอนาคตก็ต้องประสบกับปัญหาผลผลิตที่มากขึ้นอย่างแน่นอน “ดังนั้นการมีองค์กรภาคประชาชนเข้ามาดำเนินงานบริหารจัดการเกษตรกรชาวสวนทุเรียนแปลงใหญ่ โดยมีศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลินสินค้าเกษตรเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมด้วย น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนมีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานการผลิตที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงประชุมหารือร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียน 22 จังหวัด เพื่อเตรียมจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ตามโครงการสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทย เบื้องต้นจะใช้โมเดลของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ที่มีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบการศึกษาเพื่อจัดตั้งสมาพันธ์ฯ” นายสำราญ กล่าว จากการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการขับเคลื่อนการจัดตั้งสมาพันธุ์ชาวสวนทุเรียน เกษตรกรที่เข้าร่วมได้เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว โดยมองว่าสมาพันธ์น่าจะเป็นองค์กรภาคประชาชนที่จะเข้ามากำกับดูแลให้การผลิตทุเรียนแปลงใหญ่มีมาตรฐาน มีระบบบริหารจัดการที่เหมาะสม มีความเสถียรในด้านของราคา อันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างยั่งยืนและมั่นคงอย่างแท้จริงต่อไป