“ชวน”ไลน์ปัดข่าวเคลียร์ใจ“บิ๊กตู่”ชี้แค่ข่าวหลอก ยันไม่ทรยศประชาชน เด็ก“ปชป.”รับ“อภิสิทธิ์”อาจทิ้งเก้าอี้ส.ส. ขอให้เจ้าตัวยืนยันเอง ระบุอนาคตพรรคอยู่ที่แม่ทัพ“จุรินทร์”จะนำทาง พร้อมเรียกประชุมพรรคฯวันนี้ยังไร้หมายถก"ร่วม-ไม่ร่วม'รัฐบาล ด้าน"ไพศาล"ปูด“ชวน”คัมแบ็กนั่งประธานสภาฯ "ธนาธร"โพสต์อ้างความจำเป็น-สัญญากับประชาชน เหตุเสนอตัวเป็นนายกฯ "สวนดุสิตโพล"พบคนส่วนใหญ่มองจับขั้วตั้งรัฐบาลมีแต่เรื่องผลประโยชน์ เชื่อพปชร.มีโอกาสรวมเสียงตั้งได้สำเร็จ เหตุเป็นพรรคใหญ่มีอำนาจต่อรอง จากกรณีหนังสือพิมพ์สยามรัฐได้เสนอข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ปรับความเข้าใจกับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่เคยออกมาระบุว่ามีการแทรกแซงจากพรรคพลังประชารัฐในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายชวนเองก็ไม่ติดใจ และระบุว่าเรืองการเข้าร่วมรัฐบาลขอให้เป็นเรื่องของสมาชิกพรรคฯ ร่วมไปถึงกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เคยประกาศยืนยันว่าจะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนการเลือกตั้ง ก็อาจตัดสินใจลาออกจากส.ส.เพื่อแสดงจุดยืน หากที่สุดพรรคตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พ.ค.62 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ปรับความเข้าใจกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค กรณีปัญหาแกนนำพรรคพลังประชารัฐ แทรกแซงการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกหัวหน้าพรรค ว่า นายชวนบอกกับสมาชิกพรรคทุกคนในไลน์กลุ่ม ส.ส.ว่าเมื่อมีหัวหน้าพรรคและกรรมการแล้ว ท่านมีหน้าที่สนับสนุนพรรคไม่ได้มีหน้าที่ไปเคลียร์ใจกับใคร กระแสข่าวที่ออกมา คิดว่าเป็นข่าวหลอก “นายชวน เป็นปูชนียบุคคลและเสาหลักของพรรค ย่อมเป็นหลักให้สมาชิกพรรคยึดมั่นในอุดมการณ์พรรค ท่านสอนให้นักการเมืองรักศักดิ์ศรีและเกียรติยศของนักการเมือง อย่าทรยศหรือขายตัว และให้กตัญญูตอบแทนต่อประชาชนผู้มีพระคุณข่าวที่เกิดขึ้นจึงเป็นข่าวปล่อยข่าวหลอกหรือข่าวโคมลอยเท่านั้นเอง อีกทั้งพลเอกประยุทธ์ ได้ดูหมิ่นดูถูกดูแคลนนักการเมืองทุกวันเป็นเวลานานกว่า 3 ปี กรอกหูประชาชนทุกวันว่า นักการเมืองเลวทรามต่ำช้าแล้วมากลับลำใช้นักการเมืองสีเทาให้สร้างฐานอำนาจให้ ท่านไม่อายปากตนเองบ้างหรืออย่างไร ขนาดดูด ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ไปหลายคนแล้วยังไม่หนำใจอีกหรือ” นายวัชระ กล่าว ส่วนกรณีกระแสข่าว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีสะ อดีตหัวหน้าพรรค จ่อลาออกจาก .ส.ส. เพื่อแสดงจุดยืน หากพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐนั้น นายวัชระ กล่าวว่า เคยได้ยินแว่วๆ มาบ้างเหมือนกัน และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด การเมืองยิ่งกว่าลูกฟุตบอล อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ แต่คนที่จะยืนยันเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพียงแต่ว่าวันนี้ พรรคยังไม่มีมติไปในทิศทางใดทั้งสิ้น ฉะนั้นการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ว่า จะนำพรรคไปในทางใดของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จึงเป็นงานที่ยากลำบากยิ่งและละเอียดอ่อนที่สุด แต่เชื่อมั่นว่าพรรคจะมติในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกพรรค ประชาชนและประเทศชาติในที่สุด ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 20 พ.ค.62 เวลา 13.00 น. เพื่อมอบหมายงานให้รองหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคจะมอบหมายงานให้กับคณะรองเลขาธิการพรรค รวมถึงจะมีการแบ่งงานด้านอื่นอีกหลายด้าน พร้อมทั้งตั้งคณะทำงานด้านต่าง ๆ เพื่อนำทีมอเวนเจอร์สก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มรูปแบบ จากนั้น วันที่ 21 พ.ค.62 เวลา 13.00 น. จะมีการเรียกประชุมเฉพาะส.ส. เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เตรียมงานต่างๆที่ต้องทำในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมี ส.ส. ใหม่หลายคนที่ได้รับการเลือกตั้งมา ก็จะต้องมีการปฐมนิเทศพูดคุยในเรื่องหลักการทำงานต่างๆ เพราะ ส.ส.ต้องทำหน้าที่ในสภาไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็ตาม “ส่วนกรณีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคกับ ส.ส. เพื่อพูดคุยในเรื่องการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดนัดประชุม แต่ขอให้ประชาชนวางใจพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ได้ว่าจะยึดถือประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง” นายราเมศ กล่าว วันเดียวกัน นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กสั้นๆ ในหัวข้อ “ชวน come back!” ระบุว่า ในขณะที่มีข่าวหนาหูว่าหลายพรรคการเมืองจะโหวตให้คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมกาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นประธานสภานั้น เช้านี้จู่ๆ ก็แวบขึ้นมาว่า คุณบัญญัติถอนตัว และมีการโหวตให้คุณชวน เป็นประธานสภา! ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ถึงสาเหตุการประกาศเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ระบุว่า “ก่อนการเลือกตั้งเราได้เห็นว่าสังคมไทย พี่น้องประชาชนทุกที่มีความกระตือรือร้นมากมาย โดยเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นทางออกของสังคมได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากากรเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ทำให้พี่น้องประชาชนสงสัยกัน ว่าทำไมการเลือกตั้งผ่านมาตั้งเดือนกว่าแล้วแต่ประเทศยังไม่มีความชัดเจน” “ประชาชนรู้สึกว่าก่อนและหลังการเลือกตั้งก็รู้สึกเหมือนกัน พรรคอนาคตใหม่ปล่อยให้สังคมสิ้นหวังต่อไปอย่างนี้ไม่ได้ เราจะทำให้ประชาชนเห็นว่าพรรคอนาคตใหม่จะสู้ให้ถึงที่สุด ให้ได้รัฐบาลที่มาจากประชาชน เป็นของประชาชน และทำงานเพื่อประชาชน พรรคอนาคตใหม่จึงขออาสาประกาศตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เราเชื่อว่ามีแต่พรรคอนาคตใหม่เท่านั้นที่จะดึงความสามัคคีของทุกพรรคการเมืองกลับเข้ามาด้วยกันได้ มีแต่พรรคอนาคตใหม่เท่านั้นที่จะเยียวยาบาดแผลความขัดแย้งของพรรคการเมืองต่างๆ ให้กลับมาร่วมกันและมีอุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือการส่งทหารกลับกรมกอง และแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย มีแต่พรรคอนาคตใหม่เท่านั้นที่จะสามารถทำภารกิจนี้ให้ลุล่วงได้ ภายใต้ความคลุมเครือในขณะนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นเพื่อขจัดความคลุมเครือและความสิ้นหวังออกไป เราจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเอง และถ้าหากพรรคอนาคตใหม่สามารถรวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเป็นนายกรัฐมนตรี ธนาธรพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมขอประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในเมื่อไม่มีใครเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. พรรคอนาคตใหม่ขออาสาทำเอง นี่คือเวลาที่เราต้องยืนขึ้น และเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา เราต้องทำตามสิ่งที่เราสัญญาไว้กับประชาชนให้ถึงที่สุด ให้ดีที่สุด” ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต "สวนดุสิตโพล" ได้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณีที่รัฐบาลใหม่ในสายตาประชาชน จำนวน 1,132 คน ระหว่างวันที่ 14-18 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยกรณีกระแสข่าวการรวมกลุ่มของพรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น พบว่าประชาชนร้อยละ 59.52 มองว่าการเมืองวุ่นวาย มีแต่เรื่องผลประโยชน์ ขณะที่ร้อยละ 24.48 มองว่าการจับขั้วทางการเมืองยังไม่ชัดเจน ยังไม่เห็นข้อสรุปที่แน่นอน ร้อยละ 19.56 ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของบ้านเมือง และประชาชนเป็นสำคัญ ร้อยละ 18.10 ขอให้รักษาคำพูด ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อตอนหาเสียง และร้อยละ 13.81 ระบุว่ามีการปล่อยข่าวลือ สร้างกระแส ควรติดตามอย่างมีสติ ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น พบว่าประชาชนร้อยละ 43.76 มองว่าเป็นพรรคที่ได้เก้าอี้ส.ส.มากที่สุด ควรได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 39.59 ระบุว่าขึ้นอยู่กับการจับขั้วทางการเมือง ต้องดูจากคะแนนเสียงที่ได้ ร้อยละ 20.92 ระบุว่าไม่น่าจะรวบรวมเสียงข้างมากได้ ไม่น่าจะได้เป็นรัฐบาล สำหรับกรณีที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พบว่าประชาชนร้อยละ 46.03 ระบุว่ามีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ มีพรรคเล็กเป็นแนวร่วม ร้อยละ 35.44 มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูง เป็นรัฐบาลชุดปัจจุบัน และร้อยละ 31.26 ขอให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ส่วนกรณีพรรคขนาดกลาง อาทิ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่ จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น พบว่าประชาชนร้อยละ 50.47 มองว่าน่าสนใจ น่าจะบริหารบ้านเมืองได้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 36.84 ระบุเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ขอให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ร้อยละ 16.02 ระบุว่าคงเป็นไปได้ยาก คะแนนเสียงที่มีอาจไม่พอ เมื่อถามว่า พรรคใดน่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พบว่าประชาชนร้อยละ 51.54 ระบุว่าพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นพรรคใหญ่ มีอำนาจต่อรอง มีจำนวน ส.ส. มาก ได้รับเสียงสนับสนุนจาก 11 พรรคที่มีแนวโน้มว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ร้อยละ 35.93 พรรคเพื่อไทย เพราะเป็นพรรคที่มีประสบการณ์ ชนะการเลือกตั้ง มี ส.ส. มากที่สุด มีหลายพรรคให้การสนับสนุน แต่ขึ้นอยู่กับการเจรจา ร้อยละ 12.53 พรรคขนาดกลาง เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่แน่นอน อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละพรรค และเมื่อถามว่าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ จะประสบปัญหาอะไรบ้าง ร้อยละ 40.82 ระบุว่า คือความขัดแย้ง คัดค้าน ต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม ร้อยละ 35.42ความไม่ชอบมาพากล ไม่เป็นธรรม ร้อยละ 26.67 การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี โควต้าไม่ลงตัว สำหรับทางออกในการจัดตั้งระฐบาลให้สำเร็จ ร้อยละ 52.53 ระบุว่า ยึดหลักการ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย ปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ 55.38 ควรเคารพการตัดสินใจของประชาชน รับฟังเสียงส่วนใหญ่ และร้อยละ 21.48เป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ถูกต้อง ทุกฝ่ายให้การยอมรับ *************************************