โครงการจัดระบบนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง ในความดูแลของสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ และลงพื้นที่ดูแลเกษตรกร โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักแก้ไขปัญหาบนพื้นที่การทำการเกษตรที่มีพื้นที่ลาดชันสูง เนื่องจากการไหล่าบ่าของน้ำฝน ทำให้ชะล้างหน้าดินเกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ทางสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย จึงเข้ามาแนะนำให้ความรู้เกษตรกร รวมทั้งจัดทำแปลงสาธิตการอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลเสียในการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่ลาดชันที่ไม่ถูกวิธี โดย นายนิพนธ์ ตรีระแสง เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ประจำสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย กล่าวว่า สถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาที่ดินชุมชนบนพื้นที่สูง มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553-2562 จานวน 10 แปลง พื้นที่ดำเนินการ 4,700 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการและได้รับประโยชน์จำนวน 536 ราย ส่วนใหญ่เกษตรกรในพื้นที่ปลูก ยางพารา ส้มเขียวหวาน ส้มโอกาแฟ มะขามกระดานและไม้โตเร็ว ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย เล็งเห็นถึงความสำคัญในโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง โดยในช่วงปีแรกที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร เกษตรกรยังไม่ให้ความสนใจ จนกระทั้งเข้าสู่ปีที่ 4 เกษตรกรเห็นแปลงสาธิตที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก เกษตรกรจึงเกิดความสนใจ และสมัครเข้าร่วมโครงการจัดระบบนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง ทางสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัยจึงได้เข้าไปดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกลและวิธีพืช วิธีกลคือ ก่อสร้างคันคูรับน้ำขอบเขา (คันดินแบบที่ 5) เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน สร้างความชุ่มชื่นให้กับดินและจัดการเรื่องการไหลบ่าของน้ำในฤดูฝน ให้ลงในร่องน้ำ โดยจะมีอาคารชะลอความเร็วของน้ำ จะสกัดการไหลบ่าของน้ำเป็นช่วงๆ เพื่อชะลอการไหลของน้ำ และกรองตะกอนดินบริเวณคันคูรับน้ำขอบเขา อีกทั้งเกษตรกรยังสามารถปลุกมีพันธุ์ไม้ผล ไม้โตเร็วปลูกตามแนวคันคู ส่วนวิธีพืชคือ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและรักษาความชุ่มชื่นในดิน การปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินรักษาความชุ่มชื่นในดินและเป็นปุ๋ยให้กับพืชหลักที่เกษตรกรปลูก การทำการเกษตรบนพื้นที่สูง บ้านยางตอย ตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จะใช้วิธีกลก่อสร้างคันคูรับน้ำขอบเขา ขุดขั้นบันไดดิน และเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกไม้ผลบนพื้นที่ลาดชันสูง ส่วนมากประสบปัญหาพื้นที่ทำการเกษตรหน้าดินพังทลาย เนื่องการจากไหล่าบ่าของน้ำฝน ทำให้น้ำไหลบ่าลงมาสู่พื้นดินที่มีความลาดชันต่ำ ทางสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย จึงเข้ามาแนะนำให้ความรู้เกษตรกรให้เข้าใจถึงโครงการอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลเสียในการจัดการพื้นที่ดินที่ไม่ถูกวิธี เช่นพื้นที่การทำเกษตรของ นางพิชชา ศีลธรรม หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านยางตอย ที่มีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 50 ไร่ปลูกพืชที่หลากหลายแต่ไม่ถูกวิธี ทางสถานีพัฒนาที่ดินสุโขทัย จึงได้เข้ามาส่งเสริมการทำขั้นบันไดดินในพื้นที่การทำเกษตรบนพื้นที่สูง เพื่อทำให้การชะล้างพังทลายของดินน้อยลง ทำให้ดินกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ และปลูกพืชได้อย่างหลากหลายอีกครั้ง ทำให้สามารถปลูกพืชได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่ ลดต้นทุนการผลิต ลดใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกรเอง และตัวของผู้บริโภคที่ซื้อขายผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ของจังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินการที่ผ่านมาเกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตและเพิ่มรายได้ มีความกินดีอยู่ดี ทำให้ช่วยลดการชะล้างการไหลบ่าของตะกอนดิน ทำให้แม่น้ำลำคลองไม่ตื้นเขินและเป็นแหล่งเรียนรู้ การวางแผนการผลิตพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาของเกษตรกร ของประเทศไทยต่อไป