ถูกยกให้เป็น “หนึ่ง” ใน “วิกฤติทางมลภาวะ” บนผืนพิภพเรา จน “บรรดานักสิ่งแวดล้อม” ทั้งหลาย ต้องออกมาส่งเสียงเพรียกเตือนด้วยความเป็นห่วงยิ่ง เพราะส่งผลกระทบเชิงลบ ที่มี “โทษ มากกว่า คุณ” ต่อมนุษยชาติแบบมิอาจมองข้ามไปได้ นั่นคือ “ขยะ” เศษสิ่งของเหลือใช้ เหลือบริโภค ที่ทิ้งแล้ว ซึ่งเมื่อว่าถึง “ปริมาณ” ก็ต้องบอกว่า มีจำนวนมหาศาล สุดประมาณ ยากที่จะประเมินเป็นตัวเลขออกมาได้อย่างแน่ชัด เพราะเพียงแค่จาก “กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว” ที่เคยส่งมายัง “จีนแผ่นดินใหญ่” แดนมังกร ประเทศที่มีเศรษฐกิจเฟื่องฟู เมื่อหลายขวบปีก่อน ได้ประมาณการกันแบบคร่าวๆ ก็กว่า 7 ล้านตันต่อปี เข้าไปแล้ว คิดมูลค่าเป็นเงิน เป็นทอง ก็ราวๆ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระทั่ง ก่อนที่เมื่อปีที่ผ่านมา ทางรัฐบาลปักกิ่งของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งมีแนวนโยบายปฏิรูปประเทศ ปรับเปลี่ยนจาก “มังกรธรรมดา” ให้กลายเป็น “มังกรที่ล้ำสมัย” มีพัฒนาการในทุกๆ ด้าน ได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะจากกลุ่มประเทศพวกนี้มายังจีนแผ่นดินใหญ่อีก เลยเป็น “ปัญหาของขยะ” ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้ว่า แล้วจุดหมายปลายทางใหม่ สถานีต่อไปของขยะพวกนี้จะไปที่ไหนต่อ? กองขยะในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีจำนวนมหาศาล จากการเป็นประเทศนำเข้าขยะพลาสติกเพื่อรีไซเคิลรายใหญ่ของโลก บรรดานักวิเคราะห์ และผู้สันทัดกรณี ต่างชี้ว่า “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย” ก็คือ “จุดหมายปลายทาง” ของกองขยะเหล่านี้ พวกนักสิ่งแวดล้อม ยังระบุด้วยว่า ถ้าจะว่าไปแล้ว กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาข้างต้น ก็มิใช่ “ปลายทางใหม่” ของกองขยะ ที่จะเบนหัวเรือขนส่งสินค้าเข้ามาสู่ท่าเรือ ตามเมืองท่าต่างๆ เพราะมาลำเลียงขนส่งเทียบท่ากันเป็นประจำอยู่แล้ว การรณรงค์ประท้วงเพื่อต่อต้านการนำเข้าขยะของชาวจีนในเมืองกวางโจว โดยนักวิเคราะห์ ยังเผยถึงเหล่าประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นปลายทางของขยะ ซึ่งมาเทียบท่าถึงท่าเรือกันด้วยว่า ก็คือ กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคาเนย์เรา อันเป็นปลายทางของกองขยะที่มุ่งหน้ามาแต่ไหนแต่ไร สอดคล้องกับบทรายงานที่จัดทำโดย “พันธมิตรทางเลือกเผาขยะเป็นเถ้าถ่านโลก” หรือ “จีเอไอเอ” (Global Alliance for Incinerator Alternatives : GAIA) ร่วมกับ “กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออก (Greenpeace East Asia) ที่เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการนำเข้า – ส่งออก กองขยะมหึมา หรือระดับแถวหน้าของโลก อันประกอบด้วย 21 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และไทย รวมอยู่ด้วย ติดโผกลุ่มประเทศนำเข้ากองขยะจำนวมหาศาล ส่วนสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น ก้าวขึ้นไปอยู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่ส่งออกกองขยะขนาดมหึมา หรือรายใหญ่ มายังบรรดาประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ ที่รวมถึงไทยเราด้วย การส่งออกขยะของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มายังกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ก็ยังมี “ฟิลิปปินส์” ประเทศในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องขยะล้นเมือง แถมยังนำเข้ากองขยะจากต่างประเทศ จนมีปัญหาต้องขึ้นโรง ขึ้นศาล เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศจนเป็นที่ฮือฮากันมาแล้ว จากการที่ “ทางการมะนิลา” ยื่นฟ้องต่อรัฐบาลออตตาวา ทางการของแคนาดา เมื่อหลายขวบปีก่อน ภายหลังจากเรือบรรทุกตู้คอนเทเนอร์ จำนวนนับร้อยตู้ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งจากแคนาดา มาจอดเทียบท่าในกรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ซึ่งศุลกากรของฟิลิปปินส์ ตรวจพบว่า แต่ละตู้ล้วนเต็มไปด้วยกองขยะ สิ่งปฏิกูลในครัวเรือนต่างๆ จนทางการมะนิลา ต้องฟ้องศาล โดยคณะผู้พิพากษามีคำสั่งให้แคนาดา ขนกองขยะเหล่านี้กลับประเทศไป แต่ปรากฏว่า ทางการออตตาวาดื้อแพ่ง ก็ส่งผลให้ “โรดริโก ดูเตร์เต” ประธานาธิบดีจอมเฮี้ยวของฟิลิปปินส์ ต้องออกมายื่นคำขาดให้รัฐบาลออตาวา นำขยะพวกนี้กลับประเทศของตนก่อนวันที่ 15 พ.ค. มิเช่นนั้น ฟิลิปปินส์จะส่งกลับไปแคนาดาเอง ก่อนเกิดกระแสเรียกร้องในหมู่ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เดินขบวนรณรงค์ขอให้แคนาดานำขยะออกจากประเทศ จนส่งผลให้ทางการแคนาดา ต้องรีบขนขยะกลับประเทศของตนไปอย่างเร่งด่วน ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ เดินขบวนเรียกร้องให้แคนาดา นำขยะที่ส่งออกมายังฟิลิปปินส์ กลับประเทศแคนดาไป นั่น!...เป็นสถานการณ์ปะทะพิพาทกันระหว่างประเทศที่มี “ขยะ” เป็นเหตุ ในบทรายงานของ “จีเอไอเอ” ที่จัดทำร่วมกับ “กรีนพีซเอเชียตะวันออก” ยังแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ปริมาณกองขยะ ที่ส่งสัญญาณว่าจะไหลบ่ามายังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งภายหลังจากมังกรจีน ได้ปิดประตู ไม่ต้อนรับให้กองขยะพวกนี้เข้าประเทศ โดยมีสัญญาณเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 ถึงต้นปี 2561 อันเป็นผลจากกองขยะที่เบนจุดหมายปลายทางมาข้างต้น รวมถึงการมีช่องโหว่ทางกฎหมาย และระบบการจัดการที่จะรับมือกับขยะพวกนี้ ทั้งนี้ แม้มีเสียงโต้แย้งว่า กองขยะจำนวนมหาศาลเหล่านี้ จะนำมา “รีไซเคิล” เข้าสู่กระบวนแปรรูปเพื่อนำไปเป็น “วัตถุดิบใหม่” แต่ทว่า จากกระบวนการรีไซเคิลที่ทำ ทาง “จีเอไอเอ” และ “กรีนพีซเอเชียตะวันออก” ก็เป็นห่วงว่า จะคุ้มกันหรือไม่ กับสุขภาพของพลเมืองที่เสียไปทั้งจากควันพิษในการรีไซเคิลขยะ รวมถึงพืชไร่ทางการเกษตร ที่ยากจะหลีกเลี่ยงหนีผลกระทบอันบังเกิดขึ้น