ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกตระหนักถึงสุขภาพและความปลอดภัยด้านอาหารมากขึ้น กรมปศุสัตว์จึงได้ดำเนินการ (Food hazard) ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร (Food safety) ที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภคภายในประเทศ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรและอาหารกับนานาประเทศ โดยมาตรฐานในการผลิตสินค้าปศุสัตว์เน้นครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่มาตรฐานอาหารสัตว์ มาตรฐานฟาร์ม และมาตรฐานการผลิตเนื้อสัตว์ นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก สวนมะเดื่อ จำกัด จ.ลพบุรี เป็นสหกรณ์ต้นแบบในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการอาหารสัตว์ (Feed Center) เพื่อผลิตอาหารผสมครบส่วนสำหรับโคนม (TMR) ซึ่งการเลี้ยงโคนมของสมาชิกสหกรณ์ฯ รวมถึงระบบการผลิตโคทดแทน ดำเนินการโดยสหกรณ์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและองค์ความรู้จากกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ส่วนการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา แม้เป็นสหกรณ์โคนมขนาดเล็กแต่มีคุณภาพ มีสมาชิกเป็นผู้เลี้ยงโคนมเพียง 43 ราย แต่สมาชิกทั้งหมดได้รับการรับรองฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งรับประกันได้ว่าน้ำนมที่ผลิตมาจากสหกรณ์แห่งนี้เป็นน้ำนมคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน และได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นกระบวนการผลิตไปจะถึงมือผู้บริโภค ซึ่งทั้งสองสหกรณ์ล้วนมีการดำเนินงานที่เกิดผลสำเร็จสามารถเป็นโมเดลสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารสัตว์สำหรับการเลี้ยงโคนมให้แก่สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมอื่นๆ ในประเทศต่อไปได้เป็นอย่างดี” รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว ด้านนายมานิตย์ โตล่ำ ประธานสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก สวนมะเดื่อ จำกัด จ.ลพบุรี กล่าวว่า จุดเด่นของสหกรณ์ คือ ดำเนินการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์เรื่องแหล่งเงินทุน และการปรับปรุงคุณภาพโคทดแทน ซึ่งวันนี้สหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการเลี้ยงโคขุนทดแทนเพื่อนำกลับคืนสู่ฟาร์มเกษตรกรแทนโคแก่ เนื่องจากโคที่มีอายุมากส่งผลให้คุณภาพน้ำนมต่ำ “อีกหนึ่งโครงการที่ทำควบคู่กับโคสาวทดแทนคือ โคปลดระวาง โดยจะเอาโคมาขุน เนื่องจากทุกวันนี้โคปลดระวางของเกษตรกรขายที่ฟาร์มราคาถูกและเกษตรกรไม่ค่อยขาย เมื่อขายยากคุณภาพน้ำนมที่ส่งมาให้สหกรณ์ฯ มีคุณภาพต่ำ จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์คิดค้นวิธีลดภาวะการเลี้ยงโคแก่ของเกษตรเพื่อลดต้นทุน จึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยกรมปศุสัตว์เข้ามาช่วยเหลือด้านวิชาการ อาหารหยาบ ตัวโค และการดูแลปฐมพยาบาล” นายมานิตย์ กล่าว นอกจากนี้สหกรณ์ฯ รับภาระในการจัดซื้อหาอาหารหยาบจากบุคคลภายนอก โดยกำหนดโคต้าในการซื้อขาย สำหรับคนที่ไม่ได้เลี้ยงโคนมให้เขาปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น หญ้าเนเปีย ข้าวโพด ฟาง หรือเปลือกมันร้าง และหัวมันสด เพื่อลดภาระของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และมีเวลาเหลือไปดูแลสุขภาพโคให้มีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ราคาจากน้ำนมดิบสูงที่สุด ขณะที่ นายนคร กาบขุนทด เกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของ‘นคร ฟาร์ม’ เล่าว่า ตัดสินใจจะลาออกจากงานประจำมาศึกษาการทำโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน เริ่มต้นจากโคนม 7 ตัว และเพิ่มมาเป็น 12 ตัว ตายไป 2 ตัว เหลือ 10 ตัว โดยปีแรกศึกษาวิธีการเลี้ยงตามอินเตอร์เน็ตแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นได้รู้จักกับหมอที่รักษาวัวนมได้เข้ามาแนะนำวิธีการเลี้ยงวัวนมโดยเน้นเลี้ยงแบบธรรมชาติ เพื่อลดการเจ็บป่วยของโคนม เพราะต้นทุนการรักษาวัวนมค่อนข้างมีต้นทุนที่สูง ถ้าสามารถปฏิบัติดูวัวนมด้วยวิธีธรรมชาติ วัวสุขภาพดี และให้น้ำนมคุณภาพ “การเลี้ยงในแบบธรรมชาติสิ่งสำคัญ คือ อาหาร ฟาร์มเน้นทำอาหารให้โคนมเอง โดยใช้พื้นที่กว่า 10 ปลูกหญ้าเนเปีย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้ปุ๋ยมูลสัตวอย่างเดียว และมีระบบน้ำไว้ใช้ในแปลงตลอดทั้งปีด้วยการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ใช้แทนพลังงานน้ำมันในการสูบน้ำ ในส่วนของกากถั่วเหลือง และถั่วอบ ฟาร์มจะซื้อจากตลาด ซึ่งหลังจากให้ความสำคัญกับสุขภาพของวัวนมด้วยการเน้นปลูกพืชอาหารสัตว์เอง ผสมอาหารให้วัวนมของฟาร์มเอง และใช้ยาปฏิชีวนะน้อยที่สุด ทำให้ได้น้ำนมมีคุณภาพและปริมาณมาก ” เกษตรกรรุ่นใหม่ กล่าว ปัจจุบันปีเป็นปีที่ 3 ที่เลี้ยงวัวนม มีวัวนมทั้งสิ้น 44 ตัว ตัวผู้ 10 ตัว รีดนมได้วันละ 380 กิโลกรัม เฉลี่ยปีหนึ่งรีดนมได้ 18 ลิตร/ตัว/วัน ซึ่งต้นทุนการผลิตลดลงมาก มีรายได้หลักกว่าแสนบาทต่อเดือน ทำให้ยืนอยู่ได้ในอาชีพพระราชทานการเลี้ยงวัวนมได้อย่างมั่นคง ปัจจุบันมีเกษตรกรจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานและขอคำแนะนำการเลี้ยงอยู่เสมอ