รมว.เกษตรฯ ฟุ้งราคายางพาราดีขึ้นชัวร์ ฤดูเปิดกรีดนี้ ดันเมกกะโปร์เจ็ก ทำถนนยางทั่วไทย พร้อมทั้งไทย-มาเลเซีย -อินโด จับมือลดส่งออกยาง 2.4 แสนตัน 4 เดือนใช้วิธีเชิญชวนตามความสมัครใจผู้ส่งออกขานรับสร้างเสถียรภาพราคาได้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มาตรการลดการส่งออกยางพาราของไทยซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 19 กันยายน 62 ตามที่บริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ (IRCo) โดยอินโดนีเซียขอความความมือมานั้น ปีนี้ไทยจะใช้มาตรการเชิญชวนการลดการส่งออกยางพารมตามความสมัครใจและไม่ได้นำพ.ร.บ. ควบคุมยางพารา พ.ศ. 2542 มาบังคับเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการค้าเสรี ล่าสุดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ประชุมมาตรการจำกัดการส่งออกยางพารา (AETS) ครั้งที่ 6 ร่วมกับผู้ส่งออกยาง 197 ราย โดยชี้แจงว่า มาตรการ AETS มาจากการประชุมไตรภาคียางระหว่างประเทศซึ่งหารือเรื่องการลดส่งออกยางพารารวม 240,000 ตัน ซึ่งอินโดนีเซียลดส่งออก 98,160 ตัน มาเลเซียลดส่งออก 15,000 ตันที่เริ่มดำเนินการไปก่อนแล้วตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 62 ส่วนไทยนั้นจะเชิญชวนผู้ประกอบการให้ลดการออกประมาณ 126,240 ตันโดยไม่ใช้กฎหมายควบคุมยาง พ.ศ.2542 มาบังคับให้มีการลดการส่งออกเหมือนปีก่อนๆเพราะเป็นขัดกับหลักการค้าเสรีโดยกยท.จะเชิญชวนเข้าโครงการสมัครใจลดการส่งออก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางผสม น้ำยางข้น และยางคอมปาวด์ ทั้งนี้มอบหมายให้ทูตเกษตรต่างประเทศ สำนักเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ รวมทั้ง กยท.ชี้แจงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นในต่างประเทศเพื่อให้ภาคเอกชนในประเทศต่างๆ รวมทั้งในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในต่างประเทศทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีการเชิญชวนลดการส่งออกด้วย นอกจากนี้ ยังส่งไลน์ด่วนที่สุดเรื่องเร่งชี้แจงมาตรการจำกัดการส่งออกยางพาราตามความสมัครใจ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ผู้ตรวจราชการ และรักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ตามที่มีสื่อบางแห่งลงข่าวเรื่องการจำกัดการส่งออกยางพาราที่บริษัทร่วมทุนยางระหว่างประเทศ(IRCO)โดยอินโดนีเซียขอความความมือมา ในส่วนประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรฯได้ให้ความร่วมมือโดยขอให้ภาคเอกชนผู้ส่งออกพิจารณาให้ความร่วมมือในการจำกัดการส่งออกยางพาราตามศักยภาพและความสมัครใจของออกชนแต่ละราย ไม่ได้มีการบังคับใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ควบคุมยางพ.ศ.2542 มาจำกัดการส่งออกยางพาราไปจำหน่ายยังต่างประเทศแต่อย่างใดประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยมีนโยบายให้ภาครัฐใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างทำถนนและเส้นทางคมนาคมต่างๆทั่วประเทศ จึงคาดการณ์ได้ว่าตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปประเทศจะมีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมาอยู่แล้วด้วย “จึงขอให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนต่างๆทราบต่อไปด้วย ขอให้สำนักเกษตรต่างประเทศ สป.กษ.รวมทั้ง กยท.และสำนักงานทูตเกษตรทุกแห่งเร่งแปลข้อความชี้แจงของรมว.กษ.ให้ภาคเอกชนในประเทศนั้นๆรวมทั้งในตลาดซื้อขายยางพาราล่วงหน้าในต่างประเทศทราบด้วย”นายกฤษฏา กล่าว ทั้งนี้ กยท. รายงานสถานการณ์ราคายางวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 โดยราคายางแผ่นรมควันอยู่ที่ 53.25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาประมูลที่ตลาดกลางยางพารา ยางแผ่นดิบไม่มียางเข้าตลาด สำหรับราคายางแผ่นรมควัน เฉลี่ยอยู่ที่ 53.40 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางปรับตัวตามตลาดล่วงหน้าต่างประเทศและผู้ส่งออกยางธรรมชาติของไทยมีความต้องการยางเพิ่มขึ้นเนื่องจากยางเข้าตลาดน้อยและผู้ประกอบการมีปริมาณยางคงคลังอยู่ในระดับต่ำ ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่ากยท. กล่าวว่า ปริมาณยางพาราที่ไทยจะลดการส่งออกใน 4 เดือน รวม 126,260 ตันโดยคำนวณจากผลผลิตยางในปี 2561 ตามสถิติของ สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) จึงแบ่งสัดส่วนแก่ผู้ส่งออกยาง 64 รายที่ส่งออกมากกว่า 3,000 ตันขึ้นไปจะลดปริมาณการส่งออกลงร้อยละ 9.76 แต่หากผู้ส่งออกรายใดได้ใช้สิทธิ์ในเดือนใดเดือนหนึ่งน้อยกว่าปริมาณที่ได้รับจัดสรรเฉลี่ยต่อเดือนสามารถนำส่วนที่เหลือไปใช้สิทธิ์ในเดือนอื่นได้ให้ครบตามโควต้า จากข้อมูลการส่งออกยางที่รวบรวมโดยกรมศุลกากร ในปี 2561 มีปริมาณรวม 4,300,547 ตัน โดยยาง 5 ชนิดที่ควบคุมมีปริมาณ 4,213,773 ตันจากผู้ประกอบการทั้งหมด 190 ราย แต่รายที่ส่งออกตั้งแต่ 3,000 ตันขึ้นไปมี 64 ราย สำหรับผู้ส่งออกยางที่ไม่มีประวัติการส่งออกตามข้อมูลของกรมศุลกากรระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม ถึง 19 กันยายน 61 ให้ใช้จำนวนสถิติล่าสุดหรือทำแผนการส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวมาพิจารณา ทั้งนี้ผลจากการหารือ ผู้ส่งออกยินดีร่วมมือเพื่อจะให้เกิดผลในการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา ที่จะประกอบกับมาตรการส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งจะทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น