สุรินทร์ยิ่งใหญ่บวชนาคบนหลังช้างสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ช้างกว่า 50 เชือก ร่วมขบวนแห่นาค 16 นาคในขณะที่หนุ่มญี่ปุ่นหลงใหลวัฒนธรรมบินลัดฟ้าร่วมอุปสมบทด้วย
สุรินทร์-วันนี้(17 พ.ค.62) ที่บ้านตากลาง หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับ อำเภอท่าตูม และ องค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานสุรินทร์ พร้อมชาวช้าง ร่วมกันจัดงานประเพณีบวชนาคช้างที่ยิ่งใหญ่ในโลก ประจำปี 2562 โดยมีประชาชนนำขบวนช้างกว่า 50 เชือก ร่วมขบวนแห่นาค ในขณะที่ปีนี้มีนาคเข้าร่วมอุปสมบท จำนวน 16 นาค
โดยเริ่มจากขบวนแห่นาคช้างทั้งหมด 16 นาค พร้อมช้างกว่า 50 เชือกที่เข้าร่วมงาน ได้เคลื่อนขบวนจากวัดแจ้งสว่าง บ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ซึ่งต้องเดินเท้าจากหมู่บ้านช้างบ้านตากลางผ่านทุ่งนาออกไปราว 3 กิโลเมตร ไปยังดอนปู่ตา หรือดอนบวช ที่วังทะลุ จุดแม่น้ำมูลมาประจบกับลำน้ำชี เพื่อไปเซ่นไหว้ปู่ตา เป็นการบอกกล่าวปู่ตา ก่อนที่จะเข้าอุปสมบทในวันรุ่งขึ้น เป็นประเพณีที่ชาวกูยเลี้ยงช้างถือปฏิบัติมาแต่โบราณถึงปัจจุบัน
โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างสวยงามและยิ่งใหญ่ของขบวนช้างแห่นาคและขบวนเฉลิมฉลองนาค จากนั้นนายประภัสส์ มาลากาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ กล่าวรายงาน
ประเพณีบวชนาคช้าง เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ชาวสุรินทร์ทั้งเขมร ลาว กวย ที่นับถือพุทธศาสนาถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบทอดกันมา เมื่อลูกชายอายุ ครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก่อนที่จะมีเหย้ามีเรือน พ่อแม่ต้องจัดการบวชให้ลูกชายเพื่อศึกษาธรรมวินัยเสียก่อน ประเพณีบวชนาคช้างสมัยก่อนนั้นนับว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะชายหนุ่มในละแวกเดียวกันจะนัดวันบวชพร้อมกัน
โดยเชื่อว่าการบวชนี้ ถ้าจะให้ได้บุญมาก จะต้องนั่งช้างแล้วแห่ไปเป็นระยะทางไกลๆ และมีผู้คนร่วมขบวนแห่นาคเป็นจำนวนมาก ในอดีตชาวกวยบ้านตากลาง และหมู่บ้านใกล้เคียง จะพร้อมใจกันแห่นาคด้วยช้างไป ที่วังทะลุ ริมแม่น้ำมูล เพื่อทำพิธีเซ่นไหว้ศาลปู่ตา และขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ พร้อมประกอบพิธีอุปสมบทบริเวณ “ดอนบวช” ซึ่งเป็นเนินดินกลางแม่น้ำที่เกิดจากการที่น้ำจากลำน้ำชีไหลมาบรรจบกับแม่น้ำมูล ทำให้เกิดเนินดินกลางแม่น้ำ ชาวบ้านเรียกกันว่า “สิมน้ำ” หรือเรียกว่า “ดอนบวช” จนกระทั่งปัจจุบัน โดยจะจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันขึ้น 13 ถึง 15 ค่ำ เดือนหก เป็นประจำทุกปี
โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ เห็นว่าประเพณีดังกล่าวสมควรได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู และส่งเสริมให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะตัว สามารถสื่อให้เห็นว่าเป็นถิ่นที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุดในโลก จึงได้ร่วมมือกับจังหวัดสุรินทร์ อำเภอท่าตูม สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุรินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานสุรินทร์ องค์การบริหารส่วนตำบลกระโพ โรงเรียนช้างบุญวิทยา ตลอดทั้งประชาชนชาวตำบลกระโพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานประเพณีบวชนาคช้าง ขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ถือว่าคึกคักไม่แพ้ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีนาคอุปสมบทจำนวน 16 นาค และมีช้างกว่า 50 เชือกเข้าร่วม
นอกจากนี้ยังพบว่ามีหนุ่มชาวญี่ปุ่น ซึ่งหลงใหลในวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของการบวชนาคช้าง โดยเดินทางมาเข้าร่วมพิธีบวชนาคช้างในปีนี้ด้วย คือนายซินยะ คอนโดะ อายุ 34 ปี เป็นชาวเมืองเบกะ ซึ่งนายซินยะ เปิดเผยผ่านลามว่า ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่หมู่บ้านช้างเป็นปีที่ 2 แล้ว และมีความชอบและหลงใหลในวัฒนธรรมของคนเลี้ยงช้าง พอมาทราบว่าจะมีพิธีบวชนาคช้าง จึงตัดสินใจบินกลับไปยังบ้านเกิดที่ประเทศญี่ปุ่นบอกกับพ่อแม่และญาติว่าจะมาบวชในงานประเพณีบวชนาคช้างในปีนี้ จากนั้นจึงบินกลับมาและให้นายประกิต กลางพัฒนา ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านตากลาง เป็นโยมอุปฐาก จำพรรษาที่วัดแจ้งสว่าง ภายในหมู่บ้านช้างบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์เป็นเวลา 2 เดือน