เรื่อง : พุทธชาติ แซ่เฮ้ง ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์ หมายเหตุ : คะแนน 213,129 เสียง จากประชาชนที่เทใจให้กับพรรคพลังท้องถิ่นไท จนสามารถ ส่ง ส.ส. เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ 3 ที่นั่ง ทั้งนี้ ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันดับ 2 ได้เปิดใจกับ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ถึงบทบาทใหม่ ในฐานะ “นักการเมือง” ครั้งแรกในชีวิต มีสาระและแง่มุมที่น่าสนใจดังนี้ -ได้เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ครั้งแรกในชีวิต รู้สึกอย่างไร ไม่ได้คิดฝันมาก่อน หรือตั้งใจ มาเป็น ส.ส. เพราะอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ทำงานด้านวิชาการ และสนุกกับงานด้านวิชาการ และมีผลงานผ่านสื่อ เช่น คอลัมน์ประชาคมท้องถิ่นในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ บทความสะท้อนสังคมเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และบริการงานวิชาการให้กับภาคส่วนต่างๆ เช่น รัฐบาลเอกชน องค์กรท้องถิ่น แต่การมาเป็น ส.ส. เนื่องจากพรรคพลังท้องถิ่นไท โดยหัวหน้าพรรค คือคุณชัชวาลล์ คงอุดม ได้ชักชวนตั้งแต่ครั้งตั้งพรรคเมื่อปี 2555 แต่ยังไม่ได้ติดสินใจทันที ใช้เวลาคิดประมาณ 3-4 ปี ก่อนตัดสินใจเข้าเป็นส.ส. ด้วยปัจจัยหลายอย่าง คือตอนนั้นเรา ได้เป็นศาสตราจารย์แล้ว ดำรงตำแหน่งสูงสูดในมหาวิทยาลัยแล้ว อาทิ คณบดี นายกสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งมีอุดมการณ์เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายอำนาจ ที่ต้องการต่อสู้ให้การกระจายอำนาจในประเทศไทยเต็มรูปแบบ เพราะมีความเชื่อว่า การกระจายอำนาจเป็นทางออกของประเทศ คิดว่า เราน่าจะทำการเมืองใหม่ขึ้นมาได้บ้าง เพราะมีทุนความรู้ด้านวิชาการที่สะสมมากว่า 40 ปี -มองบทบาทระหว่างนักวิชาการ กับนักการเมือง แตกต่างกันหรือไม่ บทบาทนักการเมืองจะพูดเรื่องอำนาจ มองมิติการเมืองที่แข็งตัว ไม่มีศาสตร์เชิงวิชาการ เป็นการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ แต่บทบาทนักวิชาการ เป็นบทบาทที่ต้องค้นคว้า แสวงหาความรู้ เพื่อนำมาเป็นทางออกให้กับประเทศ เอางานวิชาการพัฒนาเป็นการเมือง เช่น กรณีกัญชา เริ่มจากงานวิชาการและพัฒนาไปสู่การเมือง ทั้งนี้ การเป็น ส.ส. ต้องมีวิชาการรองรับ มีฐานความรู้เป็นพื้นที่จะพัฒนาเป็นกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศ แต่ปัญหาของบ้านเรา พูดเรื่องความรู้น้อย แต่พูดการแย่งชิงอำนาจมากกว่า และการเมืองยุคปัจจุบันไม่ได้ต่อสู้เชิงนโยบาย แต่เป็นการต่อสู้แบบแบ่งขั้ว -คะแนนเสียงจากประชาชน 2 แสนกว่า สะท้อนให้เห็นอะไร เป็นความภาคภูมิใจ เพราะเป็นเสียงบริสุทธิ์ที่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศให้กับพรรค ซึ่ง 2 แสนกว่าคะแนน และได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 3 คน เป็นเสียงสะท้อนว่า ฝากดูแลเรื่องการกระจายอำนาจต่อไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ ผมคิดว่าการกระจายอำนาจ ถ้ามีการจัดการที่ดี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ความยากจน ประชาชนมีความสุข ช่วยป้องกันนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารได้ เพราะอำนาจมาอยู่ที่ข้างล่าง ส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะประชาชน เป็นเจ้าของอำนาจ แต่ที่เกิดปฏิวัติรัฐประหาร เนื่องจากข้างบนแย่งชิงอำนาจ นักการเมืองรวมศูนย์อำนาจ หากทำอำนาจข้างล่างให้แข็งแกร่ง พลเมืองมีความรู้ รู้จักสิทธิหน้าที่ มีส่วนร่วม ช่วยกันดูแลท้องถิ่นของตัวเอง ผมเชื่อว่าไม่มีปฏิวัติรัฐประหารอย่างแน่นอน -3 ที่นั่งที่ได้เข้าสู่สภาฯ ถือเป็นความสำเร็จของพรรค หรือเดินมาได้เพียงครึ่งทาง มองได้ทั้ง 2 แบบ ถ้ามองในมุมพรรคการเมืองใหม่ ได้ 3 ที่นั่ง ถือว่ามีความสำเร็จ พรรคพลังท้องถิ่นไท แม้คนท้องถิ่นรู้จัก แต่ประชาชนยังไม่รู้จัก การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย ยังมีจุดอ่อนเรื่องการให้ความรู้ ความเข้าใจต่อประชาชน เรื่องประชาธิปไตย การปกครองท้องถิ่น เพราะทั้ง 2 เรื่องเชื่อมโยงกัน แต่หากมองในเชิงความล้มเหลว พรรคคาดหวังมากเกินไปว่า คนในท้องถิ่นจะขานรับ ซึ่งความเป็นจริงคนท้องถิ่นมีฐานของพรรคการเมืองอื่นๆ แต่เดิมแล้ว พรรคไม่สามารถเข้าไปเจาะฐานตรงนั้นได้ อาจดึงมาได้เพียง 30 % ส่วน 70 % กระจายอยู่ตามพรรคอื่นๆ รวมทั้งพรรคสร้างขึ้นมาแบบกระทันหัน และลงเลือกตั้งเร็ว ไม่สามารถกระจายไปให้คนท้องถิ่นเข้าใจทั่วถึง จึงทำให้นโยบายเข้าถึงใจคนท้องถิ่นไม่เต็ม 100 % เช่น บุคลากร เจ้าหน้าที่ ข้าราชการท้องถิ่น รวมถึงสมาชิกสภาท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งยังเชื่อว่า ถ้าทำได้ จาก 30 % อาจขยับขึ้นเป็น 60 % นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางการเมืองที่มองไม่เห็น เช่น ธุรกิจการเมือง อย่างไรก็ดี พรรคก็ยอมรับสภาพ เราได้มาแค่ 3 ที่นั่ง แต่ถ้าเดินหน้าสร้างความเข้าใจต่อไป ในอนาคตก็น่าจะทำได้ดีขึ้น -กรอบการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูประบบบริหารท้องถิ่นของพรรค จะเดินหน้าไปอย่างไร สังคมไทย เป็นสังคมที่ต่อสู้เชิงความคิด คนส่วนหนึ่ง ยังมองว่า การรวมศูนย์อำนาจยังใช้ได้อยู่ คือ การรวมศูนย์จากรัฐส่วนกลาง ให้กับประชาชนส่วนล่าง ซึ่งมีการทำมานาน การจะเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้เวลา ดังนั้น สิ่งที่พรรคต้องทำ อันดับแรก พัฒนากรอบความคิด ชี้ให้เห็นว่า การกระจายอำนาจ คือ ทางออกของประเทศ จากนั้นศึกษากรอบกฎหมายมีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ หมวดว่าด้วยการกระจายอำนาจ และการพัฒนาท้องถิ่นให้มีศักยภาพมากขึ้น การรวมศูนย์อำนาจ คือ จุดตายของประเทศ แต่ถ้ามีการกระจายอำนาจ จะเป็นทางออกให้กับชาติบ้านเมือง หากดูโมเดลในต่างประเทศ หลายประเทศมีความก้าวหน้า เพราะมีการกระจายอำนาจ คำว่า “อำนาจ” เป็นของประชาชน คือการเปลี่ยนมือจากรวมศูนย์อำนาจ มาให้กลไกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องพัฒนาให้มีความเข้มแข็ง มีความรู้ ความสามารถ มีหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในงบประมาณ บริการสาธารณะ ถ้าทุกเรื่องมาเบ็ดเสร็จที่ท้องถิ่น อยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม ดูแลตามนโยบายของประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ให้ท้องถิ่นแยกตัวออกมาจากส่วนกลาง แต่ท้องถิ่นเป็นแขนขา แบ่งเบาภารกิจให้ส่วนกลาง -แสดงจุดยืนเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ กังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองหรือไม่ หัวหน้าพรรค ได้ประกาศจุดยืนว่า อะไรที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชน ประเทศเดินหน้า พรรคพร้อมให้การสนับสนุน และพรรคยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ อยากทำการเมืองแบบระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พรรคก็ไม่อยากสร้างคู่ขัดแย้ง การร่วมรัฐบาลกับใคร พรรคก็มีจุดยืนชัดเจนอยากทำเรื่องการกระจายอำนาจ หากพรรคเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องบอกให้ชัดเจนว่า อยากทำเรื่องกระจายอำนาจ ช่วยปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ปฏิรูประบบราชการ สร้างประเทศจากการกระจายอำนาจได้หรือไม่ -สถานการณ์ขณะนี้ ทุกฝ่ายกำลังติด “เดดล็อก” ทางการเมือง อยู่หรือไม่ มองได้หลายรูปแบบ ถ้ามองมุมเดดล็อก เสียงไม่ค่อยชนะขาด เสียงที่เกินมาไม่เกิน 10 เสียง เรียกว่า “การเมืองไม่มีเสถียรภาพ” คือ ไม่มีเสถียรภาพในเชิงเสียง และการกำกับเสียงของ ส.ส. เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก จนเกิด “งูเห่า” หรือการแปรพรรคเกิดขึ้น ถือว่าอันตราย แต่คิดว่า ต้องผูกใจกันด้วยเชิงนโยบาย มากกว่าการแบ่งกระทรวง เพราะจะถูกมองว่า เป็นผลประโยชน์ร่วม ที่แบ่งสรรปันส่วนลงตัวจึงร่วมกัน โดยมองว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี แต่นำนโยบายของพรรคไปขับเคลื่อนต่อ ก็พร้อมให้การสนับสนุน เราต้องพูดการเมืองเชิงนโยบาย เพราะพี่น้องประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเมือง ซึ่งการทำงานการเมือง คือ การเอาอุดมการณ์ ความคิด เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนที่ดีขึ้น -การตั้งรัฐบาลล่าช้า ส่งผลอะไรหรือไม่ ในความเห็นส่วนตัว ไม่คิดว่าช้า เป็นไปตามกรอบเวลา ถ้า ส.ส. รายงานตัวครบ ก็จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาฯ เลือกนายกรัฐมนตรี คาดว่าเดือนมิถุนายน จะได้รัฐบาลใหม่ รวมทั้งการตั้งรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่ประชาชนจะได้ประโยชน์ เพราะนโยบายยังไม่ถูกใช่ รัฐบาลต้องดำเนินงานตามกรอบงบประมาณ ปี 2562 เพราะถูกล็อกไว้แล้ว รัฐบาลใหม่จะสามารถดำเนินงานตามนโยบายได้ในปีงบประมาณ 2563 -ความเชื่อมั่นรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจ-การเมือง ใครควรเป็นผู้สร้างขึ้น มีหลายปัจจัย ได้แก่ 1.เสียงของรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การบริหารประเทศ 2.ระดับความขัดแย้งทางการเมือง โดยความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองต่างๆ จะสามารถทำให้ลดระดับความรุนแรงได้หรือไม่ 3.กลุ่มองค์กรทางสังคม ที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มีพลังมากน้อยแค่ไหน 4.ใช้กฎหมาย ควบคุม กำกับ ดูแล ให้เกิดประโยชน์ในการบริหาร อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุด รัฐบาลต้องสร้างเสถียรภาพให้ได้ก่อน สร้างความมั่นใจ คลายความขัดแย้งในสังคม เพราะสังคมถูกกดล็อกมานาน และฟังเสียงประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมให้มากขึ้น สร้างความปรองดองด้วยหลักนิติธรรม นิติรัฐให้มาก การปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างพลเมืองที่ดี ดังเช่น โครงการจิตอาสาเพื่อชุมชนและสังคม โครงการเยาวชนจิตอาสา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อสร้างคนดีของประเทศ ซึ่งคำนิยามของ “คนดี” คือ คนที่มีความรับผิดชอบ รู้จักสิทธิหน้าที่ ให้ความใส่ใจต่อกิจการสาธารณะของบ้านเมือง สังคมประเทศ ชุมชน ไม่ยึดประโยชนส่วนตน