หลายสิ่งหลายอย่าง ยังไม่สะเด็ดน้ำ “รัฐบาลใหม่” หลังการเลือกตั้ง ยังจัดตั้งกันไม่ได้ เพราะ “ข้อตกลง” ยังไม่ลงตัว “ข้อเสนอ”ยังไม่บรรลุเป้าหมายของการเจรจา ดังนั้นสภาพของการเมืองไทยวันนี้จึงอึมครึม ไม่มีความชัดเจนอย่างที่เห็น ตลอดห้วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ! กระบวนการขั้นตอนต่างๆภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ถูกกำหนดเอาไว้และเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 7 และ8 พ.ค.ที่ผ่านมาตามลำดับ ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 349 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 149 คน รวมทั้งสิ้น 498 คน โดยได้รายงานตัวต่อสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรครบทั้งหมดไปแล้ว จากนั้นได้มีการโปรดเกล้าฯพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)เรียกประชุมรัฐสภา ในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ซึ่งถือเป็น “รัฐพิธี” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะจัดพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสภา ในวันที่ 24 พ.ค. ทว่าจนถึงบัดนี้แม้ “พรรคพลังประชารัฐ” จะประกาศเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคแนวร่วมที่ประกาศตัวหนุน “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้กลับมานั่ง “นายกฯรอบสอง” พร้อมทั้งแสดงความมั่นอก มั่นใจว่า ถึงอย่างไรพรรคพลังประชารัฐ จะสามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน แต่กลับปรากฏว่าในความเป็นจริงแล้ว พรรคพลังประชารัฐ กำลังเจอกับเกมการต่อรองจากบรรดาแกนนำพรรคการเมือง พันธมิตร ไปจนถึง “หมูเขี้ยวตัน” ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มก๊วนต่างๆภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ตำแหน่งฝ่ายบริหารไปจนถึงฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสภาล่าง- สภาสูง กันอย่างเข้มข้น เพราะอย่าลืมว่ากว่าที่พรรคพลังประชารัฐ จะกวาดที่นั่งส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร รอบนี้มาได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย ต้องใช้ทุกสรรพกำลังที่มีอยู่ในมือ ทั้งทุนรอน เสบียงกรัง ควบคู่ไปกับ “ออฟชั่นพิเศษ” เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของ “พลังดูด” ให้สัมฤทธิ์ผล และต้องไม่ลืมว่า การใช้บริการจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ทั้งกลุ่มสามมิตร ของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่แพ็คกำลังกับเพื่อนเก่า “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” จนสามารถพาส.ส.เข้าสภาฯได้เป็นกอบเป็นกำ รวมถึงบรรดาแกนนำที่ไปดึงมาจาก “พรรคเพื่อไทย” คู่ปรับเก่า ทั้งจากสายอีสาน เหนือตอนล่าง หรือแม้แต่ ที่โคราช ก็ย่อมเป็นการลงทุนที่ต้องมี “ค่าตอบแทน”ด้วยกันทั้งสิ้น อย่างน้อยที่สุดลำพังเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ยังต้องมีแคนดิเดตระหว่าง “กลุ่มบ้านริมน้ำ” ที่ผลักดัน “สุชาติ ตันเจริญ” ขึ้นชนกับ “วิรัช รัตนเศรษฐ” จากเมืองย่าโม ว่าที่สุดแล้วพลังประชารัฐ จะต้องตัดสินใจมอบเก้าอี้ให้กับคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ดีปัญหาที่ยังไม่ลงตัว และเกิดเป็นประเด็นที่สะพัด ไม่มีหยุดหย่อน คือการเกลี่ยโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงหลักๆ กระทรวงเกรด A ต่างหาก โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น “ที่หมายตา” ของพรรคพันธมิตรแนวร่วมเองที่ต้องการ “สร้างผลงาน” โดยการคุมกระทรวงเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ “กลุ่มดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ขณะที่กระทรวงด้านความมั่นคง เอง “บิ๊กคสช.” ต่างจับจอง ไม่ยอมปล่อยมือ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม ที่คสช.ต้องการคุมกองทัพ เอาไว้ในมือ การเจรจาต่อรองที่ยากจะหาจุดลงตัวนี่เอง ที่กำลังทำให้ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ และบิ๊กคสช.ต้องปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะครั้นจะปล่อยมือจากระทรวงหลักๆ และนำไปปูนบำเหน็จให้กับ พรรคพันธมิตร ก็เท่ากับจะต้องสูญเสีย “เขี้ยวเล็บ” แต่ครั้นจะ “ยึด” เอาไว้เพียงฝ่ายเดียว ก็มีแต่ยิ่งทำให้ หาเพื่อนร่วมรัฐบาลได้ยากเต็มที ยังไม่นับรวม “11 พรรคเล็ก” ที่เพิ่งประกาศตัวมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หนุน “บิ๊กตู่” ให้เป็นนายกฯรอบสอง “11 พรรคเล็ก” กลุ่มนี้ จะมักน้อยไม่รวมตัวเพื่อต่อรองกับกลุ่มอื่นอย่างนั้นหรือ ? กระนั้นนาทีนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใด พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ไปจนถึงพรรคชาติไทยพัฒนาที่มีอยู่10 เสียง จึงยังไม่ยอมแสดงท่าทีความชัดเจนใดๆ ว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ หรือไม่ แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้หัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ไปแล้วก็ตาม ก็ยังไม่มีคำตอบว่า ประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” หัวหน้าคนใหม่ จะเลือกทางไหน ระหว่างไปทั้งพรรค หรือไปบางส่วน และยังเป็นจังหวะที่ง่ายต่อการเขย่าขวัญพลังประชารัฐ ด้วยกระแส “ขั้วที่สาม” หวังตั้งรัฐบาลแข่งกับ พลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย ได้อีกพักใหญ่ เรียกว่ากดดันจนกว่าพลังประชารัฐ และคสช. จะยอม “อ่อนข้อ” จนถึงนาทีสุดท้าย !