เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.62) ที่ไบเทค บางนา นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส จำกัด นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) นายฉันทกร เดวิชญ์จำศิลป์ ประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์และรณรงค์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย นายทิตติ ตระกูลสินทอง ผู้จัดการหน่วยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม จำกัด ภายใต้การดูแลของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย และนายกตัญญู กลับสุวรรณ นายกสมาคมสมาร์ทซิตี้ไทยแลนด์ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน “TWO WHEELS ASIA 2019” งานแสดงสินค้าและสัมมนาธุรกิจพาหนะสองล้อ และพาหนะไฟฟ้าแห่งเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 2562 ณ ฮอลล์ EH-105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยนางลัดดา กล่าวว่า งาน TWO WHEELS ASIA 2019 ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึง พันธมิตรจากประเทศไต้หวัน สำหรับวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งหวังในการยกระดับภาคการผลิต การส่งออกอุตสาหกรรมพาหนะสองล้อและพาหนะไฟฟ้าของไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางของธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนบริการด้านการดูแลรักษา-ซ่อมแซม โดยภายในงานประกอบไปด้วยส่วนสำคัญต่างๆ อาทิเช่น ส่วนงานแสดงสินค้า ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแสดงงานจากประเทศไทย ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ ร่วมกันกว่า 120 บูธ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จัดแสดงเทคโนโลยีด้านชิ้นส่วนอะไหล่ใหม่ล่าสุดสำหรับมอเตอร์ไซค์และจักรยาน นายจิรุตถ์ กล่าวว่า การสนับสนุนการจัดงาน TWO WHEELS ASIA 2019 เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศสำหรับตลาดภูมิภาคเอเชีย ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่เกี่ยวกับพาหนะสองล้อและพาหนะไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-curve) โดยคาดว่าจะมีนักธุรกิจในตลาดดังกล่าวกว่า 10,000 คน ซึ่งเป็นนักธุรกิจจากกลุ่มประเทศ CLMV/GMS กว่า 800 คน สามารถสร้างรายได้จากนักเดินทางเฉพาะกลุ่มไมซ์ต่างประเทศกว่า 30 ล้านบาท และกลุ่มไมซ์ในประเทศกว่า 32 ล้านบาท นายทิตติ กล่าวว่า พาหนะไฟฟ้าสามารถลดมลพิษและลดการนำเข้าพลังงานได้อย่างมหาศาล ที่ผ่านมา กฟภ.ทั้ง 74 จังหวัด ได้นำร่องใช้รถยนต์ไฟฟ้า 210 คัน ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 20-30 เปอร์เซ็นต์นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดโมเดลธุรกิจให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้าแบบระยะยาวสำหรับองค์กรภายนอกที่สนใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดตลาดพาหนะไฟฟ้าหลายประเภท อาทิ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า, รถตู้ไฟฟ้า, รถบัสไฟฟ้า และรถฟอมม์ และล่าสุดกำลังเดินหน้าขยายตลาดจึงมองหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรมากขึ้น อย่างไรก็ตามในอนาคต กฟภ.ได้เตรียมแผนก่อสร้างสถานีบริการชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าบนถนนสายหลักทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2564 จะสามารถเปิดนำร่องใช้งานได้ โดยระยะแรกจะเป็นการก่อสร้างในทุก 100 กิโลเมตร