กรมชลประทาน วางแนวทางขยายผลบางระกำโมเดล สู่บางพลวงโมเดล หวังแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรกับประชาชนในชุมชนต่างๆ ในทุ่งบางพลวง และยังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเมืองปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 17 พ.ค.62 ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มของหน่วยงานฝ่ายปกครอง และกลุ่มหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่มีความต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแนวทางของโครงการบางระกำโมเดลมาต่อยอดขยายผลให้เกิด "โครงการบริหารจัดการน้ำทุ่งบางพลวง เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย" หรือ "บางพลวงโมเดล" เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรในทุ่งบางพลวงกับประชาชนในชุมชนต่างๆ ที่อยู่นอกคันกันน้ำ โดยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก อีกทั้งยังสามารถบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วมต่อชุมชนริมแม่น้ำในหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรีด้วย สำหรับ “ทุ่งบางพลวง” เป็นพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในเขตชลประทาน ตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องถึงแม่น้ำบางปะกง เนื้อที่ประมาณ 499,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอศรีมหาโพธิ์ อำเภอศรีมโหสถ และอำเภอบ้านสร้าง รวมถึง 3 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ อำเภอบางคล้า อำเภอราชสาส์น และอำเภอพนมสารคาม ในอดีตพื้นที่ทุ่งบางพลวงจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย กรมชลประทานได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการปรับปรุงพื้นที่โครงการ ก่อสร้างคันกั้นน้ำริมแม่น้ำปราจีนบุรีต่อเนื่องแม่น้ำบางปะกง และก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณคลองสายหลักที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถทำกิจกรรมการเกษตรในทุ่งบางพลวงได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าว พบว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปีเป็นช่วงใกล้เก็บเกี่ยวข้าว เมื่อมีการปิดประตูระบายน้ำ ปริมาณน้ำจะไม่สามารถไหลบ่าเข้าทุ่งได้ จึงไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรอื่นๆ รวมไปถึงชุมชนริมแม่น้ำในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ์ อำเภอบ้านสร้าง และพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี ดังนั้น ในการแก้ปัญหาในระยะยาว กรมชลประทาน จึงมีแนวคิดในการดำเนินโครงการบางพลวงโมเดล ในลักษณะที่คล้ายกับโครงการบางระกำโมเดล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนฤดูน้ำหลาก หลังจากนั้นจะใช้เป็นทุ่งรับน้ำหลาก โดยมีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืชใหม่ จากเดิมเกษตรกรจะเริ่มเตรียมแปลงเพาะปลูกประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เนื่องจากต้องรอน้ำฝนและเก็บเกี่ยวกลางเดือนกันยายน ปรับเป็นเริ่มเตรียมแปลงภายในเดือนเมษายนและเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นภายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ก่อนฤดูน้ำหลากจะมา สำหรับแนวทางนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรและชุมชนไม่เกิดความเสียหายทั้งสองกลุ่ม ตลอดจนช่วยลดความขัดแย้ง ลดความเสียหายต่อผลผลิตรวมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดปราจีนบุรีอีกด้วย ซึ่งหากการดำเนินโครงการในพื้นที่ดังกล่าวประสบผลสำเร็จ ก็จะขยายผลไปดำเนินโครงการในพื้นที่อื่นๆ ของทุ่งบางพลวง ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการได้ประมาณ 200,000 ไร่ อีกด้วย