ผุดไอเดียสร้างต้นแบบ 6 จุด ดึงพลังคนรุ่นใหม่ YSF เกษตรกรแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน ร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ภายใต้โครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เมื่อวันที่ 16 พ.ค.62 นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจากเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง เช่นเดียวกับงานส่งเสริมการเกษตรที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มจากการวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายให้ครอบคลุมมิติของพื้นที่–คน–สินค้า ตามหลักสำคัญของงานส่งเสริมการเกษตร จนเข้าสู่การส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ในปัจจุบัน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรร่วมกัน ซึ่งการพัฒนายังไม่ขยายผลไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตรยังมีหน้าที่ในการจดทะเบียนผู้ประกอบการเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนายกระดับกิจการ นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer (YSF) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ หัวคิดก้าวหน้า และมีพลังในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงคิดว่าทำอย่างไรจะให้กลุ่มต่างๆ เหล่านี้มาทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงกันได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ดังนั้น จึงจัดทำโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยปรับวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลงในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนเกษตรให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ โครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินกิจการของกลุ่มเกษตรกร โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และเกษตรกรรุ่นใหม่มีบทบาทในกระบวนการพัฒนา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน รวมทั้งพัฒนารูปแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ให้มีการบูรณาการการทำงาน สามารถยกระดับให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก โดยปี 2562 กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 6 จุด ประกอบด้วย 1.แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 2.วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม ตำบลดอนมโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 3.แปลงใหญ่มะพร้าว ตำบลบางตลาด อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา 4.แปลงใหญ่ผัก อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ 5.แปลงใหญ่มังคุด อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 6.อโวคาโดพบพระ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ส่วนรูปแบบการดำเนินงานโครงการฯ จะมีกรอบแนวคิดการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 5 กรอบเป็นหลัก ได้แก่ 1.การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ หลักเกณฑ์ คือ ต้องมีพื้นที่ดำเนินการ สินค้า และเกษตรกรเป้าหมายที่ชัดเจน มีเกษตรกรรุ่นใหม่ YSF เป็นสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเกษตรกรมีการรวมกลุ่มและดำเนินกิจการอยู่แล้ว รวมทั้งมีแนวคิดในการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ ของชุมชน 2.เตรียมความพร้อม/จัดทำแผนพัฒนา โดยวิเคราะห์และประเมินศักยภาพของกลุ่ม การปรับวิธีคิด เพิ่มทักษะการบริหารจัดการ/ขับเคลื่อนกลุ่ม มีการจัดทำแผนพัฒนากลุ่ม เช่น พัฒนากิจการ/ธุรกิจ และพัฒนาคน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 3.สนับสนุนการพัฒนากลุ่ม โดยรวบรวมและวิเคราะห์แผนพัฒนาของกลุ่ม มีการบูรณาการกิจกรรมและงบประมาณ จัดหาแหล่งทุน รวมทั้งประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน 4.ขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่ม ตั้งแต่ต้นทาง เน้นส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพ/มาตรฐานสินค้าเกษตร และสนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ กลางทาง พัฒนาการแปรรูปสินค้า การสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบต่างๆ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และบริการ การสร้าง Brand สินค้า และระบบตรวจสอบย้อนกลับ ปลายทาง มีการเชื่อมโยง/พัฒนาตลาด และเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้นและมีความหลากหลาย และ5.เพิ่มขีดความสามารถสร้างเครือข่ายธุรกิจที่เข้มแข็ง มีการต่อยอดเชิงธุรกิจ สร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจและพันธมิตร เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินกิจการได้อย่างยั่งยืน โดยจะมีงบประมาณสนับสนุนให้แก่กลุ่มเกษตรกรทั้ง 6 พื้นที่นี้กลุ่มละ 500,000 บาท “ผลที่คาดว่าจะได้รับ จะทำให้กลุ่มเกษตรกรทั้ง 6 กลุ่มในพื้นที่ได้รับการสนับสนุน และดำเนินการตามแผนพัฒนากลุ่ม คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาร่วมกับองค์กรเกษตรกร เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน รวมทั้งได้รูปแบบและกระบวนการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาให้เป็นต้นแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก สามารถนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป”