ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ/ ทหารประชาธิปไตย เดือนหน้านี้ก็จะมีการเปิดประชุมสุดยอดอาเซียน โดยประมุขของประเทศสมาชิก 10 ประเทศ จะมาประชุมร่วมกัน มีไทยเป็นประธานในวาระหมุนเวียนนี้ จึงควรมาทำความเข้าใจท่าทีของมหาอำนาจที่จะมีอิทธิพลและผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาคนี้ ซึ่งแน่นอนในยุคปัจจุบันคู่ขัดแย้งที่สำคัญก็คือ มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ-ยุโรป และจีน-รัสเซีย ปรากฏการณ์ล่าสุด สหรัฐฯเปิดเกมรุกด้วยการส่งกองกำลังทั้งทางเรือ และทางอากาศเข้าไปคุกคามอิหร่าน ซึ่งกองกำลังหลัก คือ เรือบรรทุกเครื่องบิน อับราฮัม ลินคอล์น ตามด้วยฝูงบินทิ้งระเบิด บี 52 และจรวดแพทริออต เพื่อให้จัดการกับมิสไซโดรนและเครื่องบิน ในระยะเวลาเดียวกันสหรัฐฯเปิดเกมส์รุกในสงครามการค้ากับจีน ด้วยการขึ้นภาษีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นั่นเป็นเพียงการเริ่มต้น สหรัฐฯยังเปิดประเด็นที่เคยเสนอมาร่วม 10 ปี แล้ว ขึ้นมาใหม่นั่นคือ การเปิดกว้างและเสรี สำหรับ อินโด-แปซิฟิค ทั้งนี้สหรัฐฯมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแนวปิดล้อมจีน ทั้งทางการทหาร การเมือง และเศรษฐกิจ การดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐฯนั้น ได้มีการเตรียมการมาล่วงหน้าแล้ว กล่าวคือ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯได้ประกาศเปลี่ยนชื่อกองบัญชาการแปซิฟิคเป็นอินโด-แปซิฟิค และลดบทบาทเดิมที่เคยครอบคลุมการดูแลมหาสมุทรอินเดียลงเพื่อควบแน่นภารกิจในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะ และไม่กี่วันมานี้ก็มีการประชุมเพื่อพบปะพูดจากันที่เรียกว่า “การสนทนา เชียงการิล่า” ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อขยายแนวคิดให้เป็นความจริงในทางปฏิบัติ อันมีเป้าหมายเพื่อค้ำประกันการดำรงอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯในภูมิภาคนี้อย่างถาวร ด้วยยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิค สหรัฐฯได้ปรับปรุงแผนการแบบทวิภาคีเพื่อสร้างความสัมพันธ์ อันมีเป้าหมายที่จะสร้างความเข้มแข็งกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค นั่นคือ กลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้นจึงขยายความสัมพันธ์แบบทวิภาคีเป็นพหุภาคี กับกลุ่มประเทศ 4 ประเทศ ประชาธิปไตยในอาเซียน “Quadro” และ คำว่าประชาธิปไตย ในความหมายของสหรัฐฯคือ ประเทศที่มิใช่สังคมนิยม ซึ่งก็เป็นนิยามที่แปลกประหลาดอยู่ เพราะในสภาพปัจจุบันไม่อาจนับกัมพูชาและเมียนมาร์ ว่าเป็นประเทศสังคมนิยมโดยคำจำกัดความอีกแล้ว กลุ่มประเทศ 4 ประเทศ ที่สหรัฐฯหมายถึง คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งสหรัฐฯต้องการให้ผนึกกำลังกันร่วมกับสหรัฐฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร จากนั้นสหรัฐฯก็จะเชื่อมโยง 4 ประเทศนี้กับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย ส่วนประเทศอื่นๆในอาเซียนก็จะเป็นเพียงดาวบริวาร การรวมพลังกลุ่ม 4 กับสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย จะเป็นการผสานยุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทรให้เป็นหนึ่ง โดยเฉพาะการซ้อมรบร่วม ทางทะเลระหว่างสหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่น ที่เรียกว่าการซ้อมรบทางเรือมะลาบา (Malaba) ที่ดำเนินการมาหลายปีแล้ว ทั้งนี้สหรัฐฯให้ความสำคัญกับอินเดียเป็นพิเศษ เพื่อดึงให้ออกห่างจากรัสเซีย และมาเป็นเสาหลักในภูมิภาค เพื่อสถาปนาความมั่นคงร่วมกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และพันธมิตรอื่นๆ ทั้งนี้ต้องการปรับดุลใหม่ในการลดบทบาทของจีน ที่นับวันมีแต่เพิ่มอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิค โดยเฉพาะทะเลจีนใต้ และเขตใกล้เคียง บริบทใหม่สำหรับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯในภูมิภาคอินโด-แฟซิฟิค คือ การสร้างเสรีและปราบปรามผู้คุกคามต่อการจัดระเบียบโลก ซึ่งคำว่าเสรีนี้ย่อมหมายถึงบทบาทนำของสหรัฐฯในการจัดระเบียบโลกใหม่ ด้วยการปราบปรามอิทธิพลของจีน ในมุมมองด้านเศรษฐกิจอาศัยข้อมูลจากหอการค้า และอุตสาหกรรมสหรัฐฯ คาดคะเนว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิค จะก่อให้เกิดรายได้ครึ่งหนึ่งของรายได้ของโลกโดยรวม ในช่วงไม่กี่ 10 ปีข้างหน้านี้ แต่ก็จะต้องมีการลงทุนมหาศาลไม่น้อยกว่า 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแนวคิดนี้ก็ได้พัฒนามาจาก TTP (Trans-Pacific Trade Partnership) ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้สั่งยกเลิกไปด้วย เหตุผลที่ว่ามันมีขนาดใหญ่เกินไปจนสหรัฐฯไม่สามารถจะควบคุมได้ และยังต้องทุ่มการลงทุนและพละกำลังในการขับเคลื่อนอย่างมาก ซึ่งเกินขีดความสามารถของวอชิงตัน และแม้ว่าสหรัฐฯจะแสดงท่าทีเชื้อเชิญจีนเข้าร่วมแผนอินโด-แปซิฟิค เพื่อพัฒนาภูมิภาค และยังอ้างว่าแผนนี้มิได้เป็นแผนที่จะต่อต้านจีน และยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือต่อมาได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “Belt and road initiative (BRI)” โดยจะยึดหลักมาตรฐานสากล ความโปร่งใส หลักนิติธรรม และความพอเพียงทางการเงิน แต่จีนเองคงยอมรับไม่ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่จะไปต่อต้านยุทธศาสตร์ BRI ของจีน ที่สำคัญการเปิดสงครามการค้าของสหรัฐฯ แม้จะอ้างว่าเพื่อกดดันให้จีนเข้ามาเจรจายอมรับเงื่อนไขที่เป็นธรรมในทัศนะของสหรัฐฯ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะยอมมาร่วมหอลงโลงกับแผนอินโด-แปซิฟิค ที่มีสหรัฐฯเป็นจ่าฝูง ในการเข้ามาควบคุมความร่วมมือด้านภูมิยุทธศาสตร์ และภูมิเศรษฐกิจ เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยไม่สนใจผลประโยชน์ของหุ้นส่วนอื่นๆ โดยที่ประเทศเหล่านั้นอาจจะต้องเสียผลประโยชน์ที่จะได้จากจีน อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งในมุมมองด้านยุทธศาสตร์แผนอินโด-แปซิฟิค คือการเชื่อมโยงอิทธิพลของสหรัฐฯจากตะวันออกไปสู่ตะวันตก คือภูมิภาคเอเชียกลาง หรือยูโรเชีย เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯและเป็นเสมือนใบมีดที่ตัดเส้นทางสายไหมของจีนโดยแท้ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สหรัฐฯไม่ยอมถอนตัวออกจากอาฟกานิสถาน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของโลก ในมุมมองภูมิรัฐศาสตร์เพราะอาฟริกานิสถานเป็นจุดศูนย์กลางที่สหรับฯอาจจะแผ่อิทธิพลเข้าไปสู่ประเทศข้างเดียว อันเคยเป็นบริวารของสหภาพโซเซียต จนสามารถทำให้เป็นภัยคุกคามรัสเซียได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือการผสานพื้นที่ริมทะเลที่อาจเรียกแบบหลวมๆว่า Rim Land กับ Heart Land คือใจกลางทวีปเอเชีย ทั้งนี้แผนอินโด-แปซิฟิค จึงมุ่งเน้นในการสร้างอิทธิพลของสหรัฐฯ ตามยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์และการสถาปนา การจัดระเบียบโลกใหม่ ดังนั้นปรากฎการณ์ที่สหรัฐฯรุกรบทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธการที่จะบรรลุเป้าหมายในการสถาปนาความมั่นคงของสหรัฐฯ และหยุดยั้งอิทธิพลของจีน และโซเวียตไปในคราวเดียวกัน อนึ่งหากพิจารณาในกรณีของอิหร่าน แม้สหรัฐฯจะดำเนินการทางทหารเพื่อช่วยเหลืออิสราเอล ที่อ้างว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามตนเอง แต่สหรัฐฯเองก็มีแผนที่จะขจัดอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ แม้อิหร่านจะมีศักยภาพเหนือกว่าอิรัก และขู่ว่าจะถล่มอิสราเอลก็ตาม แต่อิหร่านก็ไม่อาจจะหวังพึ่งรัสเซีย หรือตุรกีได้เพราะทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีกับอิสราเอล แถมตุรกียังมีอีกมือที่จับอยู่กับสหรัฐฯ แม้ว่าจะเพิ่มสัมพันธ์กับรัสเซียก็ตาม การเป็นประธานอาเซียนของไทยจึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ในการก้าวเดินไปของอาเซียน เพื่อผลประโยชน์ของอาเซียน และไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทั้งสหรัฐฯหรือจีน