นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.กล่าวว่า ตามที่พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 เริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ 7 เมษายน 2562 มีผลให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 4 ของ พ.ร.ฎ ฉบับดังกล่าว โดยอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ อพท. ได้ปรับเปลี่ยน ภายใต้ พ.ร.ฎ .ฉบับนี้ มีผลให้ อพท.สามารถประกาศพื้นที่ได้มากขึ้น จาก 6 จังหวัด ปัจจุบัน เพิ่มเป็นครอบคลุม 38 จังหวัดรวมถึงสามารถทำงานด้านการพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวได้ครอบคลุมในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติประกาศ สำหรับรูปแบบการทำงานจะดำเนินงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้การทำงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ส่วนกระบวนการพัฒนานั้น อพท. ยังคงใช้หลักการเดิม คือ น้อมนำศาสตร์พระราชามายึดถือปฏิบัติ ภายใต้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ Global Sustainable Tourism Council (GSTC ) ซึ่งปัจจุบัน อพท. ได้นำมาพัฒนาเกณฑ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่จะไปพัฒนา ได้แก่ เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ The Criteria for Thailand’s Community-Based Tourism Development (CBT Thailand) มีเป้าหมาย คือการนำเกณฑ์ไปพัฒนาให้กับชุมขนเจ้าของทรัพยากรและวัฒนธรรมและมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Management Standard (STMS) เป้าหมายของเกณฑ์ เพื่อให้หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีความรู้และไปพัฒนาให้กับชุมชนในปกครองของตัวเอง อีกทั้งขณะนี้ อพท. อยู่ระหว่างการปรับยุทธศาสตร์องค์กรระยะ 4 ปี ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย พร้อมกันนี้ นายทวีพงษ์ กล่าวต่อว่า ยังได้ประสานการทำงานร่วมกับ 3 จังหวัด คือ สุโขทัย น่าน และสุพรรณบุรี ส่งเมืองเข้าประกวดตามโครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ของยูเนสโก้ (UNESCO) โดยภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ จะยื่นข้อมูลทั้ง 3 เมืองให้กับกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้คัดเลือกและส่งเข้าประกวด ซึ่งจากที่ อพท. ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ชุมชนใน 3 จังหวัดดังกล่าว ทำให้เห็นจุดเด่น อัตลักษณ์ วิถีชีวิต ที่เป็นจุดแข็ง ในการเข้าไปต่อยอดการพัฒนา โดย จังหวัดสุโขทัยและน่านจะส่งชิง เมืองศิลปหัตถกรรม เพราะมีอัตลักษณ์ด้านงานปั้น ผ้าทอ เครื่องสังคโลก และงานฝีมือต่างๆ ส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเมืองแห่งดนตรี เพราะมีความโดดเด่นเรื่องเพลงพื้นบ้าน และเป็นอีกหนึ่งจังหวัดของประเทศไทยที่มีศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ที่ประเทศไทย และจังหวัดที่เข้าสู่กระบวนการประกวดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ คือ ได้เกิดการรับรู้ประเทศไทยและแหล่งท่องเที่ยวผ่านเครือข่ายสมาชิกยูเนสโก้ที่กระจายอยู่ทั่วโลก 72 ประเทศ กว่า 187 เมือง ทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน ตลอดจนเมืองที่เข้าประกวด จะได้รับการพัฒนาทั้งแหล่งท่องเที่ยว วิถีชีวิต และคน โดยในปีงบประมาณ 2563ทาง อพท.เตรียมจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาทั้ง 3 เมืองราว 21 ล้านบาท