“วิษณุ” ขอเวลาตรวจสอบ ปม “ชยุต” เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามเป็นส.ว. ระบุ หากพบว่าขัด ต้องเลื่อนสำรองขึ้นมา โต้ 1.3 พันล้าน ใช้คัดส.ว.ส่วนกกต. ไม่ใช่ของคสช. ยัน รายชื่อคกก.สรรหาส.ว.เปิดเผยได้ เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 16 พ.ค. 62 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 ชี้มูลความผิด นายชยุต สืบตระกูล สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินตาบอด จอดรถขยะกรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการผู้ว่าฯกทม. และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างฎีกา จะส่งผลให้มีคุณสมบัติต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.หรือไม่ ว่า ตนทราบเรื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถตอบได้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบอยู่ หากพบว่าขัดก็พ้นไป ลำดับสำรองก็เลื่อนขึ้นมา เราให้เจ้าตัวเป็นคนเซ็นรับรองคุณสมบัติทั้งหมดเอง เพราะเราไม่สามารถไปตรวจสอบได้ และจนถึงตอนนี้ นายชยุตก็ไม่ได้ติดต่อมาเพื่อขอชี้แจงอะไร เมื่อถามว่า ต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถามต่อว่า นายชยุตจะมีความผิดจากการเซ็นรับรองคุณสมบัติของตัวเองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในขณะนี้ต้องบอกว่าแค่ลาออก แล้วก็เลื่อนคนใหม่ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม อาจจะมีคนอื่นๆที่มีลักษณะทำนองนี้อีก ซึ่งจะปรากฏขึ้นมาในช่วงเวลาแบบนี้ เมื่อถามว่า มีข้อกฎหมายกำหนดหรือไม่ว่านายชยุตต้องชี้แจงภายในกี่วัน นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี เมื่อประกาศรายชื่อไปแล้ว ใครร้องขึ้นมาก็เป็นเรื่องของการพ้นไปหรือลาออก แล้วก็เลื่อนคนมาแทน ซึ่งจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ไปพูดกันว่ามีการใช้งบประมาณในการคัดเลือกส.ว.ถึง 1,300 ล้านบาทนั้น เป็นการใช้ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ต้องหาคนเป็นพันเป็นหมื่นตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด อีกทั้งต้องเช่าสถานที่ แต่ส่วนส.ว. 194 คนนั้น เข้าใจว่าใช้งบประมาณเพียงไม่กี่พันบาทเท่านั้น เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่เป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้มีเบี้ยประชุม และถ้าจะมีค่าใช้จ่าย ก็เป็นแค่เรื่องเอกสาร เมื่อถามถึงกรณีพรรคเพื่อไทย(พท.)เรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาส.ว. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร สามารถเปิดเผยได้ และคสช.คงจะเปิดเผยในไม่ช้านี้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะเป็นเมื่อไร โดยคสช.ตั้งใจมาตั้งแต่แรก ว่าเมื่อประกาศรายชื่อส.ว.เสร็จแล้วก็ต้องเปิดเผย ซึ่งตนเข้าใจว่าเคยมีการร้องเรื่องนี้ไปที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินถามมา ทางคสช.ก็เคยส่งคำสั่งสำเนาแต่งตั้งไปให้ เมื่อถามว่า จะชี้แจงสังคมอย่างไรต่อข้อวิจารณ์ที่ว่าคณะกรรมการสรรหาส.ว.บางคนมาเป็นส.ว.เสียเอง นายวิษณุกล่าวว่า ชี้แจงว่าในระหว่างเวลาพิจารณา จะไม่มีการพิจารณาตัวเอง ถ้าไม่เดินออกจากที่ประชุมก็ไม่ออกความเห็น ซึ่งได้ทำแบบนี้ และได้เตือนในเรื่องนี้ไปแล้ว จึงไม่คิดว่าเป็นปัญหาอะไร “คสช.มีองค์ประชุมอยู่ 8 คน แต่ในตอนประชุมพิจารณา ได้พิจารณาครบทั้ง 15 คน เมื่อพิจารณาไปถึงรายชื่อของผู้ใดซึ่งไล่ไปตามลำดับ ถ้าผู้นั้นไม่ออกไปจากที่ประชุม ท่านก็ไม่ออกความเห็นใดๆ ถึงเวลาก็อภิปรายคุณสมบัติกันไป หลายชื่อก็ถูกข้ามไป หลายชื่อก็มีการทักท้วง บางชื่อทักท้วงแล้วสำเร็จ แต่บางชื่อไม่สำเร็จ แม้กระทั่งย้อนไปตอนสรรหาก็ทำในลักษณะเดียวกัน โดยมีการประชุม 3 ครั้ง ครั้งละหลายชั่วโมง ผมยืนยันได้ เพราะอยู่ในที่ประชุมด้วย ส่วนในชั้นคสช.นั้น ผมอาจจะอยู่ไม่ครบ แต่ก็ได้ทราบว่าเจ้าตัวไม่มีส่วนในการออกความเห็นในส่วนของตัวเอง” นายวิษณุกล่าว เมื่อถามต่อว่า มีหลักฐานนำมายืนยันและเผยแพร่ต่อสาธารณะหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีการจดรายงานการประชุมไว้ แต่จะเผยแพร่ได้หรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะรายงานการประชุมของคสช.นั้นเผยแพร่ไม่ได้ อย่างไรก็ดี หากมีคดีความ ก็สามารถส่งรายงานการประชุมที่ว่านี้ไปได้ ไม่ได้ลำบากอะไร