"พลังประชารัฐ"รวมพลได้ 260 กว่าเสียงแล้ว คาดได้ตัว"นายกฯ"สิ้นเดือนนี้ พร้อมเปิดโควต้าสูตรรมต.พรรคร่วมรัฐบาล "พปชร. 15-ภูมิใจไทย7-ปชป.7" เตรียมปลดล็อก ม.44ปล่อยขรก.ออกจากโหลดอง "ณัฐพล"เชื่อพชปร.ไม่มีงูเห่า ด้าน"เสรีพิศุทธ์"ปูดทหารดูดเสรีรวมไทย "บิ๊กป้อม"ยันคนสนิทเป็นส.ว.มีไม่กี่คน บอกมีทหารเยอะ แต่เคยผ่านงาน"สนช.-สปท." ออกกฎหมายกว่า 200 ฉบับ ชี้โหวตชื่อนายกฯทำตามขั้นตอน-ยึดพรรคเสียงข้างมาก เผยยังไม่ถูกทาบทามเป็นรมต.ต่อ "พรเพชร"ออกตัวพร้อมเป็น"ปธ.วุฒิฯ"หากสมาชิกไว้วางใจ "จุรินทร์"ผงาดนั่งหัวหน้า ปชป.คนที่ 8 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.62 รายงานข่าวจากแกนนำคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล ว่า ขณะนี้ได้รวบรวมเสียงสนับสนุนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีเสียงเกินจากกึ่งหนึ่งของสภาฯ คือ 250 เสียง ไป 10 กว่าเสียงถือว่าเพียงพอ โดยคาดว่าจะสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ จากนั้น นายกฯ จะเป็นผู้คัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยตนเอง โดยเบื้องต้นจัดสรรโควต้ารัฐมนตรีให้กับพรรคพลังประชารัฐ 15 เก้าอี้ พรรคภูมิใทยและพรรคประชาธิปัตย์พรรคละ 7 เก้าอี้ ที่เหลือเป็นสัดส่วนของพรรคขนาดเล็ก ส่วน 11 พรรคการเมืองที่ได้เสียงพรรคละ 1 เสียง จะไม่มีเก้าอี้รัฐมนตรี โดยจะได้โควต้าในส่วนของประธานคณะกรรมการแทน พร้อมกันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังสั่งการให้พิจารณาปลดล็อกมาตรา44 ที่สั่งโยกย้ายข้าราชการออกจากตำแหน่งเพื่อตรวจสอบกว่า 150 ราย โดยหากไม่พบความผิดให้คืนความเป็นธรรม ด้าน นายณัฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์หลังเข้ารายงานตัว ส.ส.ถึงกรณีงูเห่าในพรรคพลังประชารัฐ ว่า มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ และมั่นใจว่าการทำงานของพวกเรามีความมั่นคงในการรวมกลุ่มกันของพรรคพลังประชารัฐ เราเข้าใจดีว่าสิ่งที่ควรทำเพื่อประเทศคืออะไรจึงไม่ต้องกังวลเรื่องนั้นเลย เมื่อถามว่า แม้รวมเสียงตั้งรัฐบาลได้โดยการรวบรวมพรรคเล็กเข้ามาแต่เสียงยังก้ำกึ่งรัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐจะสามารถบริหารประเทศได้หรือไม่ นายณัฐพล กล่าวว่า ยืนยันว่าถึงจะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำแต่เรื่องระเบียบวินัยของ ส.ส.ของพรรคร่วมที่เราได้คุยกันไว้คงทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าเราสามารถนำพาประเทศไปได้แน่นอน และขอให้มีการประกาศรวมตัวกันอย่างเป็นทางการก่อน เมื่อถามถึงการเจรจาตกลงในเรื่องเก้าอี้ต่างๆ ลงตัวแล้วหรือไม่ นายณัฐพล กล่าวว่า เรื่องแรกคือการเลือกประธานรัฐสภา เรื่องที่สองคือการโหวตเลือกนายกฯ และเรื่องที่สามคือเก้าอี้รัฐมนตรีต่างๆ ซึ่งต้องพูดคุยหลังจากนั้น โดยให้นายกฯ ตัดสินใจว่าใครเหมาะสมในการทำหน้าที่หรือตำแหน่งใดในการรับใช้ประชาชน คงไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นปัญหาในการต่อรองมากมาย ส่วนบุคคลที่เหมาะสมในการเป็นประธานรัฐสภายังเชื่อมั่นว่าเป็นคนของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ก็ต้องมีการพูดคุยกันและให้เกียรติกับพรรคที่จะมาร่วมเป็นรัฐบาล แต่เราก็มั่นใจว่าเรามีบุคคลที่สามารถทำหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ วันเดียวกัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ขอให้ฝ่ายประชาธิปไตยอย่าไปอยู่กับฝ่ายสืบทอดอำนาจ หรือฝ่ายเผด็จการเลย เพราะจะทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ยุคที่พี่น้องประชาชนจะอดอยากข้นแค้น ช่วงนี้ประชาชนก็ลำบากเต็มทีแล้ว เพราะฉะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ควรร่วมมือกันเข้ามาทำงานกับฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน "ผมเห็นว่าฝ่ายสืบทอดอำนาจมีแผนการต่างๆ ทุเรศ สกปรก ผมคิดย้อนไปอย่าว่าแต่พรรคประชาธิปัตย์เลย แม้แต่ผมเอง พรรคเสรีรวมไทยยังมีการส่งนายทหารทาบทามผม เพื่อให้ไปอยู่กับฝ่ายเผด็จการ หลังจากที่ผมไม่ไปแล้ว ก็ยังมีความพยายามที่จะซื้อผมทั้งพรรค พร้อมมอบตำแหน่งรัฐมนตรีให้ด้วย เพื่อไปอยู่กับฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายสืบทอดอำนาจ ผมเป็นพรรคใหม่ ผมก็มีศักดิ์ศรี ผมยังไม่ยอมเลย ผมไม่ได้ตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ ขอให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ ผมก็พอใจแล้ว" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว ที่รัฐสภาใหม่ ย่านเกียกกาย นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป เข้ารายงานตัว ส.ส.ใหม่ โดยให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ว่า พรรคประชาชนปฏิรูปได้มีการประชุมสมาชิกพรรคและมีมติในที่ประชุมใหญ่ของพรรคว่าเมื่อมี ส.ส.เข้ามา ในการเลือกนายกฯ นั้นก็จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เรายังยืนยันในจุดยืนนี้อย่างต่อเนื่อง และเป็นพรรคแรกที่ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน เรายังยืนยันในจุดยืนเดิม เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวพรรคการเมืองขั้วที่ 3 จะรวมตัวจัดตั้งรัฐบาล นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าการที่จะเลือกนายกฯ นั้น ไม่ว่าอย่างไรก็จะต้องมีเสียงสมาชิกรัฐสภาสนับสนุนไม่น้อยกว่า 376 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ดังนั้นเป็นขั้วไหนก็ตามก็อยู่ที่บุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ นั้นจะมีความสามารถหรือมีโอกาสที่จะรวบรวมเสียงได้ถึง 376 เสียงหรือไม่ เท่าที่ดูในขั้วที่ 3 นั้นก็ยังไม่มีบุคคลใดที่มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ก็ยังถือว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้มากที่สุด และตนก็เชื่อมั่นว่าเป็นไปได้แน่นอนที่จะเป็นนายกฯ ส่วนขั้วอื่นก็คงได้เสียงไม่พอ เมื่อถามว่า ล่าสุดทางฝั่งเพื่อไทยระบุว่าจะมีงูเห่าจากฝั่งพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นไปได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ไม่ทราบ เพราะส.ส.แต่ละท่านก็มีเอกสิทธิ์ แต่ว่าขณะเดียวกัน ส.ส.แต่ละท่านก็มีวุฒิภาวะที่จะคิดได้เองว่าความเป็นไปได้ในการที่จะสนับสนุนผู้ใดเป็นนายกฯ เพื่อที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าต่อไปใครที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ตนก็ยังยืนยันว่าทางขั้ว 7 พรรคที่ประกาศสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ สิ่งที่จะเป็นไปได้ก็คงจะเหลือข้างพล.อ.ประยุทธ์ ส่วนการโหวตเลือกนายกฯ ตนคาดว่าคงจะเป็นวันศุกร์ที่ 31 พ.ค. ถ้ามีการประชุมรัฐสภาถ้าเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็จะได้ตอนนั้น แต่ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นการเลือกนายกฯ ก็จะต้องเลื่อนไป แต่อย่างไรก็ต้องเป็นพล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว ซึ่งคิดว่าประเทศน่าจะเดินหน้าไปได้ การเลือกนายกฯ ม่น่ามีปัญหา ส่วนพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะมีการเจรจาเพื่อร่วมรัฐบาลนั้น ตนก็คือว่าเป็นเรื่องธรรมดาปกติที่จะต้องพูดคุยกันจนเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย เมื่อถามถึงรายชื่อ ส.ว.ที่ประกาศออกมาและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสภาพี่น้องสภาผัวเมียนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่ดีในระบอบประชาธิปไตย ทั้งการประกาศผลเลือกตั้ง หรือการประกาศรายชื่อการสรรหา ส.ว.ก็ไม่เป็นที่พอใจของใครได้ทุกคน ผู้ที่ไม่พอใจก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อดำเนินการไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญแล้วก็มีผลว่า ส.ว.ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ มานั้นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเดินหน้ากันต่อไป ส่วนผลงานจะเป็นอย่างไรก็ต้องดูว่า ส.ว.แต่ละคนที่มีเอกสิทธิ์เป็นของตัวเองจะพิจารณาดำเนินการอย่างไร ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นทหาร ว่า เขาก็ทำงานได้ ส่วนใหญ่มาจากอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เคยทำหน้าที่ออกกฎหมายมากว่า 200 ฉบับ ซึ่งเขาก็เข้ามาช่วยทำหน้าที่เหมือนเดิม ส่วนที่มองว่ามีคนใกล้ชิดของตนนั้นก็มีเพียง 2-3 คนที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 6 (ตท.6) เช่น พล.อ.นพดล อินทรปัญญา พล.อ.อู้ด เบื้องบน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ก็มีเท่านี้ สำหรับน้องชายตนก็มีอยู่คนเดียว เมื่อถามถึงกรณีของ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (อดีตรองผบ.ทสส.) ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นตท.6 อีกคนนั้น พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า "แล้วเขาเป็นลูกน้องใครล่ะ" เมื่อถามว่า เมื่อ ส.ว.เข้าไปทำงานแล้วยังจะมีความน่าเชื่อถืออยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คนที่ถูกมองว่าใกล้ชิดตนมีเพียง 2-3 คนเอง ส่วนที่มองว่าส่วนใหญ่เป็นทหารจำนวนมากนั้นก็เขาเป็นทหารจะให้ทำอย่างไรได้ ซึ่งเขาก็เคยทำงานและออกกฎหมายมามากมาย ตนถามว่าแล้วจะเป็นอะไรไป ส่วนที่ต้องทำหน้าที่โหวตชื่อนายกฯ นั้น ก็ดำเนินการโหวตไปตามขั้นตอน และยึดพรรคที่มีเสียงข้างมาก เมื่อถามย้ำว่า ส.ว.พร้อมโหวตเลือกพล.อ.ประยุทธ์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่เขา ตนเชื่อว่าเขาคงเลือกคนที่ดีที่สุด เมื่อถามว่า แล้วตอนนี้มีการทาบทามให้มาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดหน้าต่อหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทาบทาม ขอให้สื่อมวลชนเลิกถามเรื่องนี้ ที่อาคารสุขประพฤติ ถ.ประชาชื่น นายพรเพชร วิชิตชลชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีความพร้อมหากได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า ทุกคนในนี้ก็พร้อม และมีความเหมาะสมที่จะเป็น ส่วนตนหากได้รับความไว้วางใจก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ สำหรับบทบาทหน้าที่ระหว่าง สนช.กับ ส.ว. มีความแตกต่างกัน ตอนเป็นสนช.มีหน้าที่เป็นสภาเดียว จึงพิจารณากฎหมายได้มาก แต่วุฒิสภามีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายให้รอบคอบ โดยเฉพาะครั้งนี้มีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ ส.ว.ยังมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระ ประการสุดท้ายที่ฮือฮาคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลที่ได้รับความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ ที่พรรคประชาธิปัตย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดโอกาสให้ 4 ผู้สมัคร คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และนายกรณ์ จาติกวณิช ได้แสดงวิสัยทัศน์ คนละ 15 นาที ภายหลังจากการแสดงวิสัยทัศน์เสร็จ ได้เปิดให้มีการลงคะแนน โดยองค์ประชุมครั้งนี้มีทั้งหมด 309 คน แต่มาประชุม 291คน ไม่ได้มาร่วมประชุม18 คน สำหรับการแบ่งสัดส่วนลงคะแนนจะมีสองส่วน คือ ส่วนแรก 70 % เป็นคะแนนของ ส.ส. 52 คน และอีก 30 % เป็นคะแนนของอดีต ส.ส. อดีตกรรมการบริหารพรรค ประธานสาขา เป็นต้น ซึ่งในการลงคะแนนมีการใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาประมวลผล โดยในรอบแรกที่ลงคะแนนปรากฏว่าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของ กกต.มีปัญหาทำให้ต้องลงคะแนนใหม่อีกรอบ แต่ก็ยังมีปัญหาว่ามีผู้ลงคะแนนบางรายถ่ายสลิปลงคะแนนเป็นหลักฐาน ทำให้ น.ต.สุธรรม ระหงษ์ รักษาการผู้อำนวยการพรรค ประกาศห้ามไม่ให้มีการดำเนินการดังกล่าวอีก ก่อนที่จะเปิดให้ลงคะแนนต่อ ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ภายหลังนับคะแนนปรากฏว่าผลการลงคะแนนเสียงจาก ส.ส. 52 คน ในสัดส่วน 70 % นายจุรินทร์ ได้รับเลือกมาเป็นอันดับหนึ่ง คือ 25 คน ตามด้วย นายพีระพันธุ์ 20 คน นายกรณ์ 5 คน และนายอภิรักษ์ 2 คน ส่วนคะแนนจากสัดส่วน 30 % นายจุรินทร์ ก็ยังคงได้อันดับหนึ่งด้วยคะแนน 135 นายพีระพันธ์ได้ 82 นายกรณ์ได้ 14 และนายอภิรักษ์ได้ 8 รวมคะแนนอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้นายจุรินทร์ ได้รับชัยชนะ เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 8 ด้วยคะแนน 50.5995 % ตามด้วยนายพีระพันธ์ 37.2160 % นายกรณ์ 8.4881 % และนายอภิรักษ์ ได้ 3.6965%.