กรมฝนหลวงฯ เผยภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย หลังระดมปฏิบัติการ 9 หน่วยทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ในวันนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศยุติสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดร้อยเอ็ด ลดลงอีก 1 อำเภอ (อ.เกษตรวิสัย) 1 ตำบล 7 หมู่บ้าน ทำให้ขณะนี้มีพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตภัยแล้งใน 7 จังหวัด 17 อำเภอ 60 ตำบล 442 หมู่บ้าน ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำใช้การของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ยังคงอยู่ที่ 18 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 195 แห่ง โดยกรมฝนหลวงฯ จะเร่งปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำ และขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งนี้ จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (14 พ.ค. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 8 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี กาญจนบุรี อุดรธานี นครราชสีมา จันทบุรี และหัวหิน ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของ จ.พิษนุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุดรธานี หนองบัวลำภู นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชลบุรี ระยอง และประจวบคีรีขันธ์ บริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำทับเสลา อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำกระเสียว เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำห้วยเหล่ายาง อ่างเก็บน้ำคลองสียัด มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ยกเว้นหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ไม่มีฝนจากการปฏิบัติฝนหลวง เนื่องจากกลุ่มเมฆเป้าหมายไม่พัฒนาตัวกลุ่มเมฆฝนได้ สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง วันนี้พื้นที่ภาคตะวันออก สนามบินท่าใหม่มีสภาพท้องฟ้าปิด หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที ด้านพื้นที่ภาคกลาง ปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการในพื้นที่ของจังหวัดนครสวรรค์ จ.อุทัยธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำทับเสลา ด้านหน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณ อ.ดอนเจดีย์ อ.ด่านช้าง อ.เดิมบางนางบวช อ.สามชุก อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ภาคเหนือ ขึ้นบินปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณ อ.พาน อ.แม่ลาว อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ด้านหน่วยฯ จ.พิษณุโลก ทำการขึ้นบินปฏิบัติการ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และ อ.พรหมพิราม อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หน่วยฯ นครราชสีมา จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณ อ.สีดา จ.นครราชสีมา - ทิศตะวันออก อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ขอนแก่น และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณ อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ - อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา โดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง อ.พยัคฆภูมิพิสัย อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ด้านหน่วยฯ จ.อุดรธานี ปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณ อ.ห้วยเม็ก อ.หนองกุงศรี อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำปาว เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จังหวัดชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 86% (พนม) 83% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 60% (พนม) 58% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.0 (พนม) -1.3 (ปะทิว) หน่วยฯ หัวหิน จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณพื้นที่การเกษตร อ.หนองหญ้าปล้อง อ.ท่ายาง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ด้านหน่วยฯ จ.สงขลา เนื่องจากในช่วงเช้าสภาพอากาศมีลักษณะปิด จึงไม่สามารถปฏิบัติการได้ และหน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี ในวันนี้มีการฝึกบินภายในสนามบิน จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน คาดว่าในช่วงบ่ายจะสามารถขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้ต่อไป