นายวิโรจน์ สว่างรัตน์ เกษตรกรและหมอดินอาสาประจำตำบล ในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลอ่างทอง อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง แรกเริ่มได้ทำการปลูกมะพร้าว แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่นและแซมด้วยไม้ผล เช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง เงาและสะตอ จากนั้น ได้เข้าร่วมเป็นหมอดินอาสา ในปี 2542 ซึ่งทางสถานีพัฒนาที่ดินพัทลุง ได้เข้ามาให้ความรู้เรื่องและสนับสนุนปัจจัยการผลิตปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพและสารไล่แมลงศัตรูพืช ในส่วนการปรับปรุงดินซึ่งมีสภาพความเป็นกรดสูงก็จะใช้โดโลไมท์และปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ในการจัดการแปลงมังคุดของนายวิโรจน์ มีการจัดการดินโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน โดยการใส่ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพและใช้สารไล่แมลงศัตรูพืช ดูแลในเรื่องของการป้องกันศัตรูพืช คอยกำจัดเพลี้ยไฟ ไรแดง ไรขาว อย่างใกล้ชิด ในช่วงมังคุดออกดอกใกล้บาน และติดผล จากนั้นก็ดูแลตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยเพื่อให้ลำต้นให้สมบูรณ์ การใส่ปุ๋ยต้องใส่ในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม ยิ่งในระยะเวลาช่วงฤดูกาลต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งในพื้นที่นี้มีโอกาสที่ออกผลผลิตอยู่ 2 ฤดู คือ ในฤดูกาลและนอกฤดูกาล แต่เกษตรกรต้องจัดการแปลงมังคุดให้ดี เช่น ฤดูฝน ต้องจัดการพื้นที่ร่องสวนให้โล่งโปร่ง แต่ฤดูแล้งอาจจะใช้เศษใบไม้กลบโคนต้นเพื่อรักษาความชื้น ถ้าไม่อย่างนั้นผลผลิตก็ไม่ออก และนำวิธีมาผนวกให้มังคุดออกดอก ออกผลตามระยะที่ต้องการในส่วนของการเก็บเกี่ยว ให้เก็บมังคุดที่มีสีเหลืองอ่อนปนสีเขียว มีจุดประสีชมพูกระจายอยู่ทั่วผล และใช้ตะกร้อผ้าในการเก็บเกี่ยวเพื่อป้องกันผลมังคุดตกลงมากระแทกกับพื้น ซึ่งจะทำให้ผลมังคุดเกิดรอยขีดข่วนที่ผิว ส่วนของสมาชิกแปลงใหญ่มังคุด มีสมาชิกทั้งหมด 58 ราย มีพื้นที่ทั้งสิ้น 139 ไร่ ซึ่งจัดทำมาตั้งแต่ปี 2557 ได้เรียนรู้ทางด้านการตลาดกับทางหน่วยงานทางราชการ จากนั้นได้ขึ้นทะเบียนมังคุด จนได้ใบรับรองมาตรฐาน GAP ในด้านการตลาดส่งออกผลผลิตก็จะมีการรวบรวมจากสมาชิกแปลงใหญ่เพื่อรวบรวมผลผลิตขายออกสู่ตลาด นางสาวดวงพร ดิสวัสดิ์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สถานีพัฒนาที่ดินพัทลุง กล่าวว่า ปุ๋ยหมัก คือปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งเกิดจากการนำซากหรือเศษที่เหลือจากพืชมาหมักรวมกันและผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ และเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม เป็นวัสดุที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่แข็งกระด้าง มีสีน้ำตาลปนดำ ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินร่วนซุย เป็นแหล่งธาตุอาหารของพืช ทางสถานีพัฒนาที่ดินพัทลุง ยังมีแผนงานส่งเสริมในเรื่องของการทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักชีวภาพ พด.2 และสารไล่แมลง พด.7 จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9 ซึ่งจะช่วยในการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มธาตุอาหาร และฮอร์โมนพืช เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ในสวนมังคุด ทำให้ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าผลผลิตมังคุด ขณะที่ด้านการตลาดของมังคุดนั้น จะมีการส่งออกให้กับพ่อค้าคนกลาง เป็นการขายเพื่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งภาคใต้จัดเป็นแหล่งปลูกมังคุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถผลิตมังคุดที่มีคุณภาพดีและมีรสชาติดี เมื่อเทียบกับมังคุดในภูมิภาคอื่นของประเทศเรา เนื่องจากภาคใต้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จากการที่มังคุด มีเอกลักษณ์ทั้งในรูปร่างของผลที่สวยงาม และมีรสชาติที่หวานอมเปรี้ยว เป็นที่ชื่นชอบของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจนได้รับฉายาว่า “Queen of Fruits” และเป็นผลไม้ที่ทางประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ซึ่งให้ความสนใจกับไม้ผลชนิดนี้ด้วย