วันนี้ 15 พฤษภาคม 2562 ที่สระว่ายน้ำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานร่วมกับเครือข่าย นางสาวธัณณ์จิรา ไทยธานี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิชาการ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ รองคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ ผศ.ดร.สันทณี เครือขอน และคณะภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนผู้สูงอายุ ร่วมรณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ “ก้าวสู่สูงวัย ออกกำลังกายในน้ำกันล้ม” พร้อมกิจกรรมรณรงค์และสาธิตการออกกำลังกายในน้ำ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่วยในการทรงตัว ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้อีก 2 ปี จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และยังพบปัญหาสุขภาพจากการเจ็บป่วยด้วยกลุ่ม NCDs (Non-communicable diseases) คือ โรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง จากการสำรวจ พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป หกล้มทุกปี โดยผู้สูงอายุเพศหญิงพลัดตกหกล้มสูงกว่าเพศชาย 1.6 เท่า และใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินด้วยสาเหตุพลัดตกหกล้มวันละ 140 ครั้ง ทั้งยังเป็นสาเหตุของผู้ป่วยในอันดับ 1 และผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ยวันละ 2 คน ผลจากการหกล้มทำให้ได้รับบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อย ถึงขั้นรุนแรงจนสะโพกหักกว่า 3,000 คนต่อปี ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง จากการที่ต้องพึ่งพาคนอื่นในการดูแล ช่วยเหลือในการปฎิบัติกิจวัตรประจำวัน การบาดเจ็บพลัดตกหกล้ม ส่วนใหญ่เกิดจากการลื่น สะดุด และก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกัน ร้อยละ 66 ตกหรือล้มจากราวบันไดหรือขั้นบันได ร้อยละ 5.6 ซึ่งปัจจัยเสี่ยงได้แก่การทรงตัวบกพร่อง การมองเห็นบกพร่อง รับประทานยาที่เสี่ยงหรือยามากกว่า 4 ชนิด มีประวัติการพลัดตกหกล้มและอยู่บ้านยกพื้นสูง หรือต้องขึ้น ลงบันไดทุกวัน ซึ่งปัจจุบันผู้สูงอายุยังคงใช้ชีวิตประจำวันในสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ดังนั้นควรมีการดัดแปลงหน้าบ้านให้เหมาะสมกับวัย เช่นมีราวจับบริเวณบันได มีราวจับบริเวณห้องน้ำและห้องนอน ปรับพื้นไม่ให้ลื่น ใช้โถชักโครกหรือนั่งราบ เป็นต้น สำหรับการป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุมีมาตราการที่สำคัญได้แก่ 1.ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 150 นาที/สัปดาห์ โดยเฉพาะการออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งมีความปลอดภัยไม่ทำให้ข้อเข้าและข้อสะโพกเกิดการบาดเจ็บ ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยในการทรงตัวและป้องกันการพลัดตกหกล้มได้ 2.ผู้สูงอายุควรเข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม และ 3.ทีมสหสาขาจัดการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยร่วมกัน จะช่วยลดโอกาสการหกล้มได้ นอกจากนี้ขอแนะนำให้ชุมชนและเครือข่ายร่วมกันปรับปรุงบ้านและสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มได้ด้วยตนเองที่ www.Thaincd.com ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422