โรคเกาต์และโรครูมาตอยด์เป็นโรคข้อที่พบมากในคนไทย ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก การแยกความเจ็บป่วยของทั้งสองโรคไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้นการรู้ถึงความต่างของอาการระหว่างโรคเกาต์และโรครูมาตอยด์จะช่วยให้รับมือได้ทันและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี นพ.สุรราชย์ ธำรงลักษณ์ แพทย์อายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง โรครูมาตอยด์ว่า เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่มีการอักเสบของเยื่อบุข้อ ซึ่งจะลุกลาม ไปทำลายกระดูกและข้อในที่สุด โรคนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะข้อเท่านั้น ยังอาจมีอาการทางระบบอื่นๆ อีก เช่น ตา ประสาท กล้ามเนื้อ สามารถเป็นได้กับทุกกลุ่มอายุตั้งแต่เด็กถึงวัยชรา แต่ส่วนใหญ่จะพบในวัยกลางคน และเพศหญิงมากกว่าเพศชาย สาเหตุมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม มีฟันผุ สูบบุหรี่ โดยมักมีอาการปวดข้อ ข้อบวม เคลื่อนไหวข้อลำบาก จะมีอาการมากที่สุดในช่วงตื่นนอนตอนเช้า และอาจมีอาการอยู่ 1 – 2 ชั่วโมงหรือทั้งวันก็ได้ ตำแหน่งของข้อที่ปวดมากที่สุด มักจะเป็นที่มือและเท้า แต่มีโอกาสปวดข้อตำแหน่งอื่นได้ รวมทั้งอาจมีอาการต่อไปนี้ได้ เช่น อ่อนเพลีย ไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร ตาแห้ง คอแห้งผิดปกติ พบก้อนใต้ผิวหนัง บริเวณข้อศอกและข้อนิ้วมือ ในรายที่รักษาช้าอาจเกิดการทำลายข้อถาวร ทำให้ข้อพิการผิดรูปได้ โรคนี้ในระยะเริ่มต้นอาจลำบากในการวินิจฉัย เนื่องจากการดำเนินของโรคมักเป็นไปอย่างช้าๆ จำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การรักษา ได้แก่ 1) ใช้ยา 2) พักผ่อนและการบริหารร่างกาย 3) ป้องกันไม่ให้ข้อถูกทำลายมากขึ้น และ 4) ผ่าตัดในกรณีที่ข้อถูกทำลายไปมากแล้ว ขณะที่โรคเกาต์ เป็นหนึ่งในโรคข้ออักเสบเช่นกัน พบได้ร้อยละ 5 ในบรรดาโรคข้ออักเสบทั้งหมด ในสหรัฐฯ พบมีผู้ป่วยเกาต์ประมาณ 2.4 ล้านคน ทั่วโลกเฉลี่ยพบผู้ป่วยโรคเก๊าท์ 300 รายต่อประชากร 100,000 คน ลักษณะของโรคคือ การอักเสบของข้อแบบเฉียบพลัน อาจมีอาการประมาณ 5-10 วัน แล้วหายไป บางรายอาจเป็นโรคเรื้อรัง มีการอักเสบของข้อแบบเป็นๆ หายๆ และจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุเกิดจากกรดยูริกในเลือดสูง จากการสะสมกรดยูริคในร่างกายจำนวนมาก โดยเฉลี่ยกรดยูริคจะตกผลึกเมื่อระดับกรดยูริกในเลือดมากเกิน 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อมีกรดยูริกสะสมมากกว่าปกติเป็นเวลานาน จึงไปตกตะกอนรอบๆ ข้อ หรือในข้อ หรือความผิดปกติของกรดยูริคที่ขับสารพิวรีนออกจากร่างกายได้ช้า ซึ่งแพทย์จะซักถามอาการโดยละเอียด ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด ตรวจสารน้ำในข้อเพื่อหาผลึกกรดยูริก การรักษาในปัจจุบัน คือ 1) รักษาอาการข้ออักเสบเฉียบพลันให้หายเร็วที่สุด เน้นที่เริ่มให้ยาทันที 2) ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบของข้อจากผลึกกรดยูริก 3) รักษาภาวะกรดยูริกสูงในเลือด ป้องกันข้อและกระดูกถูกทำลาย เช่น ลดความอ้วน ลดรับประทานอาหารยูริกสูง เช่น เครื่องในสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มน้ำมากๆ ที่สำคัญ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง ไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาสม่ำเสมอ ทั้งนี้ โรคเกาต์ และโรครูมาตอยด์ เมื่อเปรียบเทียบกันจะพบข้อแตกต่างคือ เกาต์ เกิดจากร่างกายสะสมกรดยูริกมากเกินไป ไม่สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกได้ จึงตกผลึกตามข้อและอวัยวะต่างๆ มีอาการปวดส่วนล่างของร่างกาย โดยเฉพาะข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า นิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า จะปวดที่ข้อๆ เดียวไม่เกิดพร้อมกันหลายข้อ มีปุ่มกระดูกขึ้นที่ข้อ ปวดได้ทุกเวลา ถ้าข้ออักเสบรุนแรงแล้วประคบร้อนจะอักเสบเพิ่มขึ้น อาการปวดจะเป็นๆ หายๆ ขณะ โรครูมาตอยด์ เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิต้านทาน ที่ไปทำลายและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและกระดูกรอบข้อทำให้ปวดได้ทุกจุด ไม่ว่าจะเป็น ข้อนิ้วมือ ข้อไหล่ ข้อนิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อไหล่ ข้อศอก และปวดได้หลายๆ ข้อพร้อมกัน มีการผิดรูปของข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อนิ้วเท้า จะปวดมากที่สุดในช่วงตื่นนอน อากาศเย็น การประคบเย็นจะยิ่งปวดมากขึ้น และจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รีบรักษา ทั้งนี้ หากปวดข้อแล้วไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรคเกาต์หรือรูมาตอยด์ ควรสังเกตตนเองและรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว เพื่อกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดังเดิม