GEL เสิร์ฟงบไตรมาส 1/62 สุดประทับใจ งบเฉพาะกิจการพลิกมีกำไร 5.8 ล้านบาท ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “ธิติพงศ์ ตั้งพูนผลวิวัฒน์” มั่นใจปี 62 รายได้โตเกิน 20% ทะลุเป้า เผย 2 บริษัทย่อยพร้อมเดินเครื่องผลิต รองรับการให้บริการลูกค้า พร้อมโชว์ Backlog หนากว่า 2.0 พันล้านบาท นายธิติพงศ์ ตั้งพูนผลวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนเนอรัล เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GEL) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของงบเฉพาะกิจการของบริษัทในไตรมาส 1/62 มีรายได้รวม 573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132 ล้านบาท หรือ 30% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 441 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5.8 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 32.9 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณการผลิตและส่งมอบที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีงานในมือรอการส่งมอบ (Backlog) กว่า 2.0 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่รับรู้รายได้ในปีนี้ แม้ว่างบการเงินรวมจะเกิดผลขาดทุน 24.5 ล้านบาท เนื่องมาจากบริษัทย่อยที่ยังไม่ได้เดินหน้าเต็มกำลัง ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปี 2562 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตประมาณ 20% เทียบกับปีที่ผ่านมา โดยในส่วนของโรงงานผลิตลวดเหล็กแรงดึงสูง ชั้นคุณภาพพิเศษ (PC Wire และ PC Strands) ของบริษัท เซเว่น ไวร์ จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัทฯ) ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. จากกระทรวงอุตสาหกรรม และได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิต ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมภายในปีนี้ ส่วนโรงงานผลิตและจำหน่ายเสาเข็ม โดยใช้แรงเหวี่ยง (Spun Pile) ของ บริษัท เจนเนอรัล นิปปอน คอนกรีต อินดัสตรีส์ จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัทฯอีกแห่งหนึ่ง) ปัจจุบันการก่อสร้างอาคารและเครื่องจักรได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าผลิตภัณฑ์จะได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. จากกระทรวงอุตสาหกรรม และสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GEL กล่าวอีกว่า จากการมุ่งเน้นเรื่องการผลิตสินค้าและส่งมอบที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากการพัฒนาเรียนรู้และความเชี่ยวชาญของบุคลากรของ GEL ในสายการผลิตที่เพิ่มขึ้นใหม่ ทั้งของผลิตภัณฑ์พื้นและผนังคอนกรีตหล่อสำเร็จ และผลิตภัณฑ์เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง รวมไปถึงศักยภาพการติดตั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานในเวลารวดเร็ว คาดว่าจะส่งผลให้ผลประกอบการรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในปี 2562 น่าจะดีขึ้นและจะชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อบริษัทย่อยทั้งสองบริษัทสามารถผลิต และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ในระดับที่ได้วางแผนไว้โดยเร็ว