นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้รับมอบหมายจาก ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท โดยเปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้จัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดการอบรมฯไปแล้ว 2 ครั้ง คือ จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดนครสวรรค์ สำหรับการจัดอบรมฯ ที่จังหวัดชัยนาท ระหว่างวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2562 นับเป็นครั้ง 3 โดยพบว่าในปี 2561 จังหวัดชัยนาท มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 632,251 ไร่ และมีการทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 305,948 ไร่ คิดเป็น 48.39% ของพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งจังหวัด ซึ่งติดอันดับที่ 26 ของประเทศ ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงเลือกจังหวัดชัยนาท เพื่อลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ โดยเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ตนและคณะวิทยากร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่ในอำเภอหันคา เพื่อพบปะเกษตรกร จำนวน 250 ราย ณ วัดราษฎร์บำรุง ตำบลหันคา อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เพื่อรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้มีการสะท้อนปัญหา เช่น กรณีเกษตรกรบางรายที่ไม่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เนื่องจากไม่มีสำเนาเอกสารสิทธิ์ เช่น ผู้ให้เช่าที่ทำนาไม่ยอมให้เอกสารสิทธิ์แก่ผู้เช่า เพื่อนำไปประกอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจึงเป็นผลให้ไม่ได้จัดทำประกันภัย กรณีโควต้าจำนวนพื้นที่ในการทำประกันภัยมีจำนวนจำกัด โดยส่วนใหญ่ผู้มีสิทธิ์จัดทำก่อนเป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. กรณีการขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ตรงกับข้อมูลการจัดทำประกันภัย เนื่องจาก ธ.ก.ส. ใช้ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรไม่เป็นปัจจุบัน (ใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนของปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำประกันภัยปีปัจจุบัน) ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกัน กรณีเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีการประกาศภัยพิบัติ และกรณีความเสียหายของข้าวนาปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากภัยแล้ง เป็นต้น ทั้งนี้ คณะวิทยากรได้ชี้แจงและคลายปมสงสัยต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งจะนำข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 เป็นการเปิดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562 ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ณ ห้องเจ้าพระยา โรงแรมเจ้าพระยาธารา ริเวอร์ไซด์ จังหวัดชัยนาท โดยมี นายสำราญ นันทนีย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และกล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดชัยนาทเป็นสถานที่จัดการอบรมความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดชัยนาทในการนำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จุดเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรไทย” โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า การประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 มีความโดดเด่นและแตกต่างจากปีก่อนๆ 3 ประการ คือ ประการแรก รูปแบบการทำประกันภัยปีนี้รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยโดยสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ประการที่สอง มีการเพิ่มความคุ้มครอง“ภัยช้างป่า”เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงภัยกับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด ประการที่สาม มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย ข้าวนาปี สำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 630 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง (ส่วนที่ 2) ตามพื้นที่เสี่ยงภัยสูง ปานกลางและต่ำ โดยจะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 240 บาท และ 120 บาท สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1+ ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 24 บาทต่อไร่ โดยมีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,500 บาท ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) ตามพื้นที่ความเสี่ยงภัยสูง ปานกลางและต่ำ โดยจะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 240 บาท และ 120 บาท สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1 + ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 870 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถทำประกันภัยได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธันวาคม 2562) “ในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำ Mobile Application ชื่อ “กูรูประกันข้าว” เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ด้านประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในมิติต่างๆ ดังนั้นผมจึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจโหลดแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างครบวงจร” รองเลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้าย