กรมชลประทานนำสื่อมวลชนติดตามโครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยหลัว แก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง ในพื้นที่ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะที่ชาวบ้านสุดดีใจหวังได้ใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ หลังร้องขอและรอคอยมานานกว่า 50 ปี เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 14 พฤษภาคม 2562 ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) อ่างเก็บน้ำลำห้วยหลัว อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน นายสมลักษณ์ ยกน้อยวงศ์ นายอำเภอสมเด็จ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ ก่อนที่จะนำสื่อมวลชนลงพื้นที่บริเวณจุดที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำลำห้วยหลัว ซึ่งอยู่ติดกับจุดชมวิวผาเสวย ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำห้วยหลัวเป็นอ่างเก็บน้ำที่ประชาชนอาศัยอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาภูพานได้ร้องขอต่อรัฐบาลให้เปิดโครงการชลประทานอ่างเก็บน้ำผาเสวย พร้อมขอให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2519 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายและผลผลิตตกต่ำ ทำให้มีฐานะความเป็นอยู่ฝืดเคือง นายสุรัช กล่าวต่อว่า กรมชลประทานได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหา พบว่า ในพื้นที่มีลำน้ำห้วยหลัว ซึ่งสามารถที่จะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำต้นทุนได้ จึงดำเนินการศึกษาวางโครงการ สรุปได้ว่าสมควรสร้างเขื่อนกั้นลำห้วยหลัวบริเวณหมู่ที่ 6 บ้านแก้งกะอาม ต.ผาเสวย ซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากบริเวณที่ตั้งเขื่อนอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูพาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญ เป็นแหล่งต้นน้ำ รวมทั้งพรรณไม้ สัตว์ป่า การที่จะก่อสร้างโครงการ กรมชลประทานจะต้องขอเพิกถอนพื้นที่ต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ให้ละเอียดถี่ถ้วน ดังนั้นกรมชลประทานจึงได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ได้รับการอนุมัติงบประมาณจึงได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา การศึกษาประกอบด้วยด้านวิศวกรรม เพื่อให้ได้ลักษณะเขื่อนที่เหมาะสมที่สุด ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐศาสตร์ โดยตลอดระยะเวลาการศึกษาได้เปิดโอกาสให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ตั้งแต่การปฐมนิเทศนิเทศโครงการ การประชุมกลุ่มย่อย เพื่อให้การศึกษามีความถูกต้อง ครบถ้วน สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของประชาชน และล่าสุดได้ประชุมปัจฉิมนิเทศของโครงการ เพื่อนำเสนอผลการศึกษา ให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้รับทราบแนวทางการพัฒนาโครงการที่เหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาโครงการ และมาตรการที่จะป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาเพื่อที่จะนำไปปรับปรุง เพื่อลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีน้อยที่สุด และจะได้นำรายงานดังกล่าวเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ) เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตเพิกถอนพื้นที่ก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป ด้านนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหลัวนั้นจะสามารถกักเก็บน้ำได้ 8.27 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก โดยสามารถจัดสรรน้ำส่งให้พื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 4,695 ไร่ และฤดูแล้ง 1,403 ไร่ มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของราษฎรในพื้นที่ นายไกรสร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหัวงานเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะสามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน และชุมชนโดยรอบ เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสให้มีการจ้างงานส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยพื้นที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุม 2 เทศบาลตำบล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบด้วย เทศบาลตำบลผาเสวย 8 หมู่บ้าน และเทศบาลตำบลลำห้วยหลัว ขณะที่นายวิเศษ ตาปา ชาวบ้านขมิ้น ต.ผาเสวย อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันชาวบ้านใน ต.ผาเสวย และใกล้เคียงประสบวิกฤติปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทุกปี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สูงไม่มีอ่างเก็บน้ำไว้กักเก็บน้ำอุปโภค บริโภคในช่วงหน้าแล้ง จึงได้ร่วมกันร้องขอให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำครั้งนี้ กระทั่งล่าสุดทราบว่ามีการศึกษาผลกระทบเพื่อที่จะดำเนินการสร้าง ทำให้ชาวบ้านดีใจเป็นอย่างมาก เพราะต้องรอคอยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มานานกว่า 50 ปี เพื่อจะได้มีน้ำอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรเพียงพอต่อไป