ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ติวเข้มผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพป.บุรีรัมย์ เขต 1 ขับเคลื่อนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ด้วยการศึกษาชั้นเรียน เพื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีการจัดการเรียนรู้ของครู เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 พ.ค.62) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 อบรมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเป็นฐาน (Professional Learning Communication : PLC)โดยใช้วิธีการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) เพื่อพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด 201 โรงเรียน จำนวน 201 คน โดยมีนายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานเปิดการอบรม ที่ห้องประชุม เพ ลา เพลิน บูติค รีสอร์ท อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามหลักสูตรฯ โดยการนำนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) มาใช้ ผลักดันให้ครูเกิดความรู้สึกที่จะพัฒนากระบวนการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเยี่ยมห้องเรียนทุกเดือน เพื่อนิเทศการจัดการเรียนการสอน เป็นกำลังใจให้แก่ครูผู้สอน และนำผลมาและเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้วยกัน โดยมี ดร.สมเจตน์ พันธ์พรม สพม.39 ดร.ณัฐพงศ์ ฉลาดแย้ม สพป.อุดรธานี เขต 1 ดร.ปิยธันว์ เบญจเทพรัศมี สพป.อุบลราชธานี เขต 4 เป็นวิทยากร นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดการศึกษามีเป้าหมายสำคัญคือคุณภาพของนักเรียน การพัฒนาคุณภาพของนักเรียนจะสำเร็จได้ทุกคนต้องมีเป้าหมายร่วมกัน ต้องเกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจ “แน่วแน่กับเป้าหมาย แต่ยืดหยุ่นกับวิธีการ” คือ มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ละโรงเรียนผู้บริหารและครูต้องตั้งเป้าหมายร่วมกัน เลือกลำดับความสำคัญว่าจะยกคุณภาพนักเรียนให้มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะเน้นพัฒนาในเรื่องใด และลงมือทำด้วยกันด้วยความมุ่งมั่นจริงจัง ขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบ ด้วยกระบวนการPLC ที่ทุกคนมีส่วนร่วม พร้อมกับได้ฝากข้อคิดในการจัดการศึกษาว่า ให้ศึกษาพระบรมราโชบาย ด้านการศึกษา ของในหลวง รัชกาลที่ 10 การจัดการศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐาน.ให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ หนึ่ง มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง สอง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม สาม มีงานทำ มีอาชีพสุจริต และ สี่ เป็นพลเมืองที่ดี ขอฝากให้ผู้บริหารและคุณครูได้ทำความเข้าใจ และนำไปสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน ซึ่งพระบรมราโชบาย ทั้ง 4 ด้าน ส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกับเป้าหมายการจัดการศึกษาตามหลักสูตรฯ อยู่ด้วยแล้ว