"พาณิชย์”สั่งพร้อมรับมือสงครามการค้า เดินหน้าบุกตลาด มั่นใจได้โอกาสในวิกฤติ ด้านแบงก์ชาติเตือนระวังปัญหาการทุ่มตลาด ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด หลังส่งผลเสียมากกว่าผลดี พร้อมประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในการประชุม กนง.เดือน มิ.ย.นี้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า จากการที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพิ่ม 2 ครั้ง มูลค่ารวมกว่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯตอบโต้มูลค่าประมาณ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สนค.ประเมินผลกระทบเบื้องต้นในส่วนของการขึ้นภาษีของสหรัฐฯที่ครอบคลุมสินค้าจีนมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯพบว่า อาจทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงประมาณ 5,600-6,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้ครอบคลุมรายการที่ไทยส่งออกไปประเทศต่างๆประมาณร้อยละ 46 โดยตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯทดแทนจีน การส่งออกไปจีน และการส่งออกสินค้าที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจีนไปยังตลาดอื่นๆที่สำคัญได้แก่ ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งในกลุ่มสินค้า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯดังกล่าวการส่งออกไปสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 9.7 และการส่งออกไปประเทศที่ 3 เป็น supply chain ลดลงร้อยละ 7.5 ขณะเดียวกันพบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในปีนี้ จึงเป็นตลาดที่ต้องเร่งส่งออกทดแทนจุดเปราะบางอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อรับมือกับการส่งออกที่อาจจะลดลง สนค.ได้วิเคราะห์รายการสินค้าพบว่า ไทยมีสินค้าหลายตัวขยายตัวน่าพอใจเช่น สินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้หลายชนิด เครื่องดื่มหลายประเภท ไก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ซึ่งกลุ่มสินค้านี้แม้จะมีมูลค่าน้อยไม่อาจชดเชยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรมได้ทั้งหมด แต่การส่งออกสินค้าเหล่านี้จะมีผลทางจิตวิทยาต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เนื่องจากมีผลต่อรายได้ของภาคเกษตรและเอสเอ็มอีจึงควรเร่งผลักดันการส่งออกมากขึ้น สำหรับสินค้ากลุ่มที่การส่งออกอาจลดลงมาก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกโดยนักลงทุนต่างชาติและไทยขนาดใหญ่อาจจะต้องใช้มาตรการลงทุนเป็นเครื่องมือสนับสนุน โดยดึงดูดให้นักลงทุนจากทุกประเทศรวมทั้งจีนมาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น แต่ต้องเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ผลิตสินค้ารุ่นเก่า รวมทั้งอาจขอให้เร่งขยายการลงทุนและ production capacity ในไทยมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และให้หาทางส่งออกไปสหรัฐฯและประเทศอื่นทดแทนการพึ่งตลาดจีน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการกระจายตลาดดังกล่าวอย่างเต็มที่ ส่วนกลุ่มสินค้ายานยนต์อาจได้รับผลกระทบเพิ่มจากมาตรการ safeguard ภายใต้มาตรา 232 ของสหรัฐฯที่คาดว่าจะประกาศวันศุกร์นี้ รวมทั้งจากความตกลง USMCA ที่มาแทน NAFTA จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2563 โดยกำหนดเงื่อนไข local content เข้มงวดขึ้นจากร้อยละ 60.62.5 เป็นร้อยละ 75 อาจจะต้องมีการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยหาทางทำ Joint Venture หรือลงทุนร่วมกับบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในสหรัฐฯ หรือเม็กซิโก อยู่แล้ว เพื่อรักษาสัดส่วนในตลาดไว้ สำหรับรายการสินค้าที่สหรัฐฯประกาศเพิ่มเมื่อคืนวันที่ 13 พ.ค.62และรายการสินค้าที่จีนประกาศตอบโต้สหรัฐฯแล้วนั้น สนค.อยู่ระหว่างศึกษาว่ามีรายการใดที่ไทยสามารถแสวงหาโอกาสส่งออกเพิ่มได้ โดยเฉพาะมีสินค้าเกษตรหลายรายการ โดยผลกระทบจากสงครามการค้าไม่ได้กระทบไทยเพียงประเทศเดียว แต่ส่งผลไปทั่วโลกอาจทำให้ปริมาณการค้าโลกหดตัว รวมทั้งส่งผลต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และราคาน้ำมัน การขึ้นภาษีตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯและจีนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเช่นไทย โดยรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจได้เตรียมแนวทางการรับมือไว้ โดยนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาราชการ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมต่างๆเตรียมพร้อม เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ทำแผนรุกตลาดสินค้าศักยภาพลงลึก และเร่งการพัฒนาการส่งออกผ่านออนไลน์ (e-commerce) กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมข้อมูลเรื่อง non-tariff measures ที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ควรเร่งเจรจา กรมการค้าต่างประเทศเตรียมมาตรการการค้าชายแดนและการขายข้าว และ สนค.เสนอแนวทางรับมือระยะสั้นและยุทธศาสตร์ระยะกลาง ทั้งนี้ รมช.พาณิชย์กำลังจะเดินทางไปอินเดีย เพื่อหาลู่ทางการขยายการส่งออกปาล์มน้ำมันเพิ่มเติม โดยอินเดียเป็นตลาดหนึ่งที่จะเพิ่มความสำคัญขึ้น จำเป็นต้องให้ผู้แทนระดับสูงไปกระชับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เป็นยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการไปได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ แต่สำหรับการเจรจา FTA กับประเทศต่างๆต้องรอรัฐบาลใหม่ นอกจากนี้กระทรวงพาณฺชย์จะเชิญกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์และชิ้นส่วนมาหารือเบื้องต้นก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีรองนายกรัฐมนตรี หรือ รมช.พาณิชย์เป็นประธาน ก่อนที่จะมีการประชุมหารือกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายส่งออกต่อไป ขณะที่เรื่องที่สหรัฐฯเพ่งเล็งว่าไทยอาจะเข้าข่ายเป็นประเทศที่เป็น currency manipulator นั้น จากข้อมูลการส่งออกไปสหรัฐฯของฝ่ายไทย พบว่าแม้จะสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในระดับที่เห็นว่าสูงผิดปกติจากเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ตรงกันข้ามเงินบาทไทยค่อนข้างแข็งมากเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการให้เร่งนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร และให้มีประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมาโดยตลอด สำหรับสงครามการค้าครั้งนี้ ไม่ได้มีแต่สหรัฐฯและจีนที่เจ็บตัว แต่ผลกระทบกระจายไปทั่วโลกเจ็บตัวกันไปไม่มากก็น้อย ซึ่งไม่เป็นการดีกับการค้าโลกที่ยังเปราะบางอยู่ สนค.มองว่าความขัดแย้งของ 2 ประเทศมีรากเหง้าลึกกว่าเรื่องของการค้า เป็นการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการมีอิทธิพลในทวีปเอเชียด้วยจึงอาจจะเป็นหนังเรื่องยาว ในส่วนของไทยแม้ว่าอาจจะทำให้การส่งออกลดลงบ้างปีนี้ แต่ท่ามกลางปัญหายังเห็นโอกาสหลายจุด เพราะเศรษฐกิจไทยและการส่งออกไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง สินค้าไทยหลายตัวมีมาตรฐานสูงและมีชื่อเสียงในตลาดโลก ขณะนี้เป็นโอกาสที่จะนำสินค้าไทยแทรกเข้าไปในหลายตลาด แม้ว่าระยะสั้นอาจต้องมีผลกระทบแรงต่อการส่งออก แต่มั่นใจว่าถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกันก็จะรับมือได้อย่างแน่นอน ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ความตึงเครียดสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนโดยรวมเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก เนื่องจากจะกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน 3 ด้านได้แก่ การชะลอตัวของการค้าโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูงรวมทั้งไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ด้านการค้า ผลกระทบจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น สินค้าไทยที่ส่งไปประกอบในจีนและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่ส่งต่อไปยังตลาดสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ แต่ขณะเดียวกันสินค้าที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่สามารถส่งไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน และ ด้านการลงทุน อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนและไทย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งการลงทุนอาจใช้เวลาในบางอุตสาหกรรมเพื่อวางแผนการย้ายกระบวนการผลิต โดยรวมแล้ว สงครามการค้ากระทบต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เรื่องการระบายสินค้าที่ส่งไปขายไม่ได้ในระหว่างคู่ค้าหลักเข้ามาทุ่มในตลาดประเทศที่สามอย่างไทย และควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ธปท. จะมีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในเดือนมิ.ย.62