เมื่อเช้าวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า และโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า กระทรวงสาธารณสุข นักศึกษาหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 (ปธพ.7) และภาคีเครือข่าย จัด“โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่เช้าตรู่ เมื่อผู้ใช้บริการทางการแพทย์มาลงทะเบียนตรวจรักษาและคัดกรองกันอย่างเนืองแน่นเต็มทุกคลินิก โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ร่วมพิธีลงนามถวายพระพร และเป็นประธานเปิดโครงการฯ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ. เกษม วัฒนชัย กล่าวว่า “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562”เป็นโครงการต่อเนื่องของมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการโดย นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรทางการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 7 ที่ผ่านมาคณะนักศึกษาหลักสูตรปธพ.จะร่วมกันจัดขึ้นปีละ 1 จังหวัด ตามแนวคิดภายใต้หลักการนำหมอไปหาคนไข้ โดยนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากเมือง ไปต่างจังหวัดที่ขาดแคลน ให้ตรงความต้องการของชุมชน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทางเข้ายังเมือง และนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปถ่ายทอดให้กับแพทย์ในต่างจังหวัด พร้อมทั้งการนำเครื่องมือระดับสูงต่างๆ ที่พื้นที่ขาดแคลนเพื่อลงไปช่วยในการวินิจฉัย ตรวจรักษาและคัดกรองโรค และนำไปสู่ความเชื่อมโยงประสานงานความช่วยเหลือแบบเครือข่ายทั้งในพื้นที่จังหวัดเดียวกัน แต่คนละสังกัด ทั้งภาครัฐ และเอกชน กับ 4 เสาหลักทางการแพทย์ ในหลักสูตร ปธพ. คือ 1.อาจารย์โรงเรียนแพทย์ 2.แพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 3.แพทย์ทหาร ตำรวจ และภาครัฐอื่น และ 4.แพทย์ภาคเอกชน โดยนักศึกษาแต่ละรุ่นจะดูแลรุ่นละจังหวัด ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสภานายกพิเศษแพทยสภา เปิดเผยว่า การออกหน่วยแพทย์อาสาครั้งนี้นับวาระพิเศษเพื่อร่วมเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นโอกาสมหามงคล ของประเทศในนามนายกพิเศษ แพทยสภา องค์กรซึ่งถือเป็นตัวแทนของแพทย์ไทยทุกคน รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงได้ ร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ขอพระราชทานพระราชานุญาต เพื่อจัด“โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562” โดยได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดโครงการต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ นับเป็นการจัดหน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศที่มี “แพทยสภา” เป็นแกนนำ โดยใช้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายของระบบสาธารณสุขโดยรอบบูรณาการกับทั้ง 5 กระทรวง บริหารจัดการโดยนักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 7 เป็นงานจิตอาสาที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของแพทย์ทุกสังกัดในภาครัฐและผู้บริหารแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน เพื่อแสดงพลังการรวมใจของบุคลากรทางการแพทย์ และร่วมพลังกับจิตอาสาทุกภาคส่วนเพื่อมอบโอกาสการเข้าถึงการรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้กับชาวจังหวัดเพชรบุรีและใกล้เคียง เพื่อลดคิวของผู้ป่วยที่ต้องรอคอยยาวนาน ลดการเดินทางเข้าสู่โรงเรียนแพทย์ ให้ได้รับบริการจบในขั้นตอนเดียวในพื้นที่ ด้านนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ในนามตัวแทนของประชาชนจังหวัดเพชรบุรี รู้สึกปลาบปลื้มและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี “ขอขอบคุณจิตอาสาทุกท่าน ที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อมอบโอกาสทางการแพทย์ให้แก่ประชาชนจังหวัดเพชรบุรี ให้มีโอกาสรับการรักษาและคัดกรองโรคที่มีความยากและซับซ้อน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งโรคเหล่านี้ผู้ป่วยจะต้องรอคิวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยาวนาน โครงการนี้นำมาซึ่งโอกาสในการมีชีวิตยืนยาวของผู้ป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดี จากการมีสุขภาพพลานามัยที่ดี สร้างขวัญกำลังใจแก่สมาชิกในครอบครัว และช่วยเหลือครอบครัวที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงแพทย์เฉพาะทาง จำนวนหลายพันครอบครัว” นายกอบชัยกล่าวและว่า ที่สำคัญนับเป็นการรวมพลังจิตอาสา จากหลายเหล่า หลากสังกัด มาผนึกกำลังกัน เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นโอกาสของชาวเพชรบุรีที่จะได้ร่วมกิจกรรมพัฒนาด้านสุขภาพ ขยายโอกาสในการรับการตรวจรักษาและคัดกรองโรคต่างๆ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โรงพยาบาลและชุมชน เพื่อให้เกิดเครือข่ายการดำเนินงานทางด้านสาธารณสุข ที่เข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดีของประชาชนต่อไป พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กล่าวว่า การจัดโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯในครั้งนี้เป็นโอกาสพิเศษอันสำคัญยิ่งที่ได้รับพระราชทานพระราชานุญาต หลังจากที่มูลนิธิได้ออกหน่วยแพทย์อาสาใน “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมา 2 ปีติดต่อกันดูแลผู้ป่วยกว่า 30,000 คนไปแล้ว โครงการนี้จึงเป็นการออกหน่วยครั้งที่ 3 ในรัชกาลปัจจุบัน และครั้งที่ 7 ของหลักสูตร “โครงการนี้จึงตั้งเป้าหมายให้คิวการรอรักษาโรคยากให้เหลือเป็นศูนย์ โดยเริ่มจากการสำรวจ คัดกรอง ผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อหาผู้ป่วยที่ตกค้าง และส่งทีมแพทย์เข้าไปให้การรักษา” พล.อ.ต. นพ.อิทธพร กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังเป็นการซักซ้อมการจัดโรงพยาบาลสนามขนาดใหญ่ ที่มีความร่วมมือจากแพทย์ทุกภาคส่วน เพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดความจำเป็นในอนาคต เช่น การเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนเป็นการถ่ายทอดความรู้จากราชวิทยาลัยฯ โดยแพทย์เฉพาะทางไปยังโรงพยาบาลในต่างจังหวัดโดยตรง การให้ความรู้กับ อสม. พระสงฆ์ จิตอาสา ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงและสังกัด สำหรับปีนี้เป็นวาระพิเศษมหามงคล ในโอกาสพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก มีบุคลากรทางการแพทย์เข้าร่วมมากกว่า 500 คน ประชาชนจิตอาสามากกว่า 2,000 คน โดยนำเครื่องมือพิเศษเพื่อตรวจรักษาและคัดกรองคิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 200 ล้านบาทใน 22 คลินิก และมีประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 30,000 ราย พลตำรวจตรี พญ. พรเพ็ญ บุนนาค ประธานดำเนินงานโครงการแพทย์อาสาฯ ปธพ. 7 กล่าวว่า “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติ ฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นได้โดยได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อลดระยะเวลาในการรอคิวเข้ารับการรักษาและคัดกรองโรคเฉพาะทางของผู้ป่วยในจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ตามโรคที่สำรวจความต้องการพื้นที่มาล่วงหน้าโดยจัดคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆจำนวน 22 คลินิก เช่น คลินิกมะเร็งเต้านม (Mammography) คลินิกกระดูกและข้อ คลินิกศัลยกรรมส่องกล้อง คลินิกตรวจพัฒนาการเด็ก คลินิกตวรจสุขภาพพระสงฆ์ คลินิกตรวจโรคทั่วไป คลินิกทันตกรรม คลินิก CPR คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ คลินิกแพทย์แผนไทยและฝังเข็ม คลินิกส่งเสริมสุขภาพ คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิกโรคหัวใจ และหลอดเลือด คลินิกหัวใจเต้นไม่ตรงจังหวะ คลินิกเด็กโรคหัวใจ คลินิกสูตินรีเวช คลินิกจักษุ คลินิกโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ​ ทั้งนี้ในเดือนมกราคม ถึง เดือนเมษายน ได้ดำเนินการตรวจรักษาล่วงหน้าไปแล้ว คือ คัดกรองวัณโรคจำนวน 4,008 ราย ผ่าตัดข้อเข่าเทียม 10 ราย ตรวจสายตาประกอบแว่น 113 ราย ทำฟันปลอมทั้งปาก 9 ราย คลินิกพัฒนาการเด็กอบรมเจ้าหน้าที่ จำนวน 150 คน คัดกรองมะเร็งเต้านม 120 ราย คัดกรองหัวใจเต้นผิดจังหวะ 5,813 ราย ศัลยกรรมส่องกล้อง 111 ราย และคลินิกเด็กโรคหัวใจ 17,000 ราย และระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2562 ได้ดำเนินการดังนี้ คลินิกพัฒนาการเด็ก 60 ราย คลินิกจักษุ 400 ราย สอน CPR 2,550 ราย คลินิกส่งเสริมสุขภาพ 100 ราย คลินิกสูตินรีเวช 17 ราย คลินิกแพทย์แผนไทย 361 ราย และคัดกรองวัณโรค 623 ราย นับว่าที่ผ่านมาตรวจรักษาและคัดกรองโรคคนไข้ไปแล้วกว่า 31,581 ราย ซึ่งยังไม่รวมกิจกรรมล่าสุดในวันนี้ ​นอกจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น ยังมีกิจกรรม มอบเครื่องช่วยชีวิตกระตุกหัวใจ AED มอบอุปกรณ์การแพทย์แก่พระภิกษุสงฆ์ อีกด้วย ด้านนางสิริเกศ จิรกิติ ประธานกิจกรรมหน่วยสนับสนุนแพทย์อาสาฯ กล่าวว่า ภารกิจที่สำคัญ ของหน่วยแพทย์อาสา นอกจากการให้บริการตรวจรักษาและคัดกรองโรค เพื่อลดคิวการรอคอยให้เหลือเป็นศูนย์ ในการดำเนินโครงการฯ ยังมีกิจกรรมจากอีกหลายหน่วยงาน ที่ผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจร่วมสนับสนุน โดยผู้ที่มารับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ในการจัดเตรียมสถานที่ กิจกรรมบนเวที อาหาร เครื่องดื่ม การเดินทาง ที่พัก การจัดงานพิธีเปิด การประชาสัมพันธ์ และการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการประเมินผลโครงการ เป็นภารกิจของนักศึกษาในหลักสูตร ปธพ.7 ฝ่ายสนับสนุนแพทย์อาสา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูงที่เป็นข้าราชการ สังกัดกระทรวงต่างๆ และภาคเอกชนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมด้วยช่วยกันดูแลจนสามารถมอบบริการทางการแพทย์ให้กับคนไข้นับ 30,000 ราย ได้ครบถ้วน “กิจกรรมจิตอาสาในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีของชาวจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ที่จะได้รับการดูแลสุขภาพจากแพทย์เฉพาะทางเทียบเท่าศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงออกถึงสัญญาณแห่งความรัก ความสามัคคี และพลังของจิตอาสาในกลุ่มคนไทยทุกหมู่คณะ เพื่อร่วมกันช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ยกระดับการดูแลสุขภาพ ให้แก่ประชาชนที่ด้อยโอกาส โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ให้ผู้รับบริการทุกคนกลับบ้านด้วยรอยยิ้ม และได้รับการบริการทางการแพทย์ที่เข้าถึงยากอย่างครบวงจร” รายงานข่าวเปิดเผยว่า จนกระทั่งเวลา 15.00 น. ที่หน่วยแพทย์อาสาโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ คลินิกโรงเรียนพ่อแม่ ยังคงจัดกิจกรรม “1 วันสู่ความเป็นพ่อแม่มืออาชีพในยุค 4.0 เพื่อเลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ ปลูกวินัยเชิงบวก” อยู่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่คลินิกทันตกรรม ซึ่งให้บริการผู้ป่วยไปแล้วกว่า 400 ราย ยังคงเปิดให้บริการต่อไป โดยทันตแพทย์ที่มาเป็นจิตอาสาต่างยืนยันว่า จะดูแลรักษาผู้เข้ารับบริการให้เรียบร้อยจนถึงฟันซี่สุดท้าย ​​