ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-3 พฤษภาคม 2562 กองเลขาเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมยามถามข่าวและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนริมฝั่งโขง รวมถึงการให้ข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับการฟ้องศาลปกครองคดีเขื่อนไซยะบุรีของชาวบ้าน 37 ราย ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งปัจจุบันนี้คดียังอยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์ นอกจากนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน และระบบนิเวศ เพื่อเป็นฐานข้อมูลเพิ่มเติมและเตรียมการติดตามเฝ้าระวังติดตามผลกระทบ หลังจากที่เขื่อนไซยะบุรีประกาศขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 175 เมกะวัตต์ และจะส่งขายไฟฟ้าเชิงพานิชย์อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้คณะทำงานได้เริ่มต้นตระเวนรับฟังความเห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน ณ ศาลาประชาคมริมฝั่งแม่น้ำโขง บ้านโนนหลักศิลา ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยในการประชุมมีตัวแทนผู้ฟ้องคดีศาลปกครอง จาก จ.อำนาจเจริญ จ.มุกดาหาร และจ.นครพนม และชาวบ้านเป็นเกษตรกร คนปลูกผัก คนหาปลา ผู้เลี้ยงปลากระชัง และชาวบ้านจากชุมชนริมลำน้ำสาขา ที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขงกว่า 70 คน เข้าร่วม นางสาวไพรินทร์ เสาะสาย ผู้ประสานงานจาก International Rivers เล่าว่า ปัจจุบันการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักตอนบน ในจีน ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว 11 เขื่อน เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยในฤดูแล้ง เขื่อนเหล่านี้ได้กักเก็บน้ำไว้กว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่แผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงตอนล่างมีทั้งหมด 11 โครงการ เขื่อนที่กำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จคือ เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง จะเริ่มผลิตไฟฟ้าในปีนี้ โดย 95 % ไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี จะส่งขายให้ประเทศไทย ผ่าน กฟผ. ในเดือนตุลาคม ส่วนเขื่อนดอนสะโฮง กำลังผลิตติดตั้ง 260 เมกะวัตต์ มีแผนส่งขายให้กับกัมพูชาและใช้ภายในประเทศลาว ส่วนโครงการเขื่อนที่ดำเนินกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538 คือ โครงการเขื่อนปากแบง กำลังผลิตติดตั้ง 990 เมกะวัตต์ และโครงการเขื่อนปากลาย กำลังผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ทั้ง 2 โครงการมีบริษัทสัญชาติจีนเป็นผู้พัฒนาโครงการ อย่างไรก็ตามโครงการยังไม่ได้เริ่มการก่อสร้าง ผู้ประสานงานฯ กล่าวว่าเมื่อปีที่ผ่านมาเกิดกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก เป็นภัยพิบัติต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกว่า 14.000 คน ที่เมืองสนามไซยและแขวงอัตตะปือ ทางตอนใต้ของลาว หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลลาวสั่งให้ตรวจสอบศักยภาพและมาตรฐานการบริหารจัดการน้ำของแต่ละเขื่อน ทำให้เขื่อนต่างๆ บนแม่น้ำสาขาในสปป.ลาว ต้องระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมริมฝั่งโขง ดังที่ประสบกับชาวบ้านในเขตประเทศไทยหลายหมู่บ้าน สำหรับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงตอนบน ในเชียงราย ก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจีน ที่ปล่อยน้ำมากถึง 2000 – 3000 ลบ.ม./วินาที นับตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 นางสาวไพรินทร์กล่าวว่า ช่วงเดือนภุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นมา เขื่อนไซยะบุรีได้เริ่มทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในพื้นที่หลวงพระบาง เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เมตร ในขณะที่ระดับน้ำในเขต อ.เชียงคาน จ.เลย อ.สังคม อ.เมืองหนองคาย มีระดับน้ำสูงกว่าปี 2561 ถึง 1-2 เมตร “การขึ้นลงของระดับน้ำโขงที่ไม่ปกติ พบว่าทำให้หาดทรายเปลี่ยนทิศทางหลายแห่ง บางพื้นที่หาดทรายไม่มี เช่น แก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน และพันโขดแสนไคร้ ต.บ้านม่วง เป็นต้น ประเด็นสำคัญคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง พิสูจน์ชัดมาหลายปีมากกว่าเกิดจากใช้งานของเขื่อนจีน แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมโขงยังไม่มีกลไกใดๆ ที่จะเรียกร้องให้เกิดความรับผิดชอบต่อความเสียหาย ยิ่งในปีนี้เมื่อเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังเริ่มผลิตไฟฟ้า และตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเชียงคาน จ.เลย เพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น และยังเป็นเขื่อนที่สร้างโดยบริษัทสัญชาติไทยอีก เป็นสิ่งที่ประชาชนไทยที่อยู่ริมฝั่งโขงต้องร่วมกันคิดว่าจะสร้างกลไกการติดตามผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้น ว่าจะต้องทำอย่างไร”นางสาวไพรินทร์ กล่าว นายวงศ์วริศน์ อรรคศรีวร ผู้ใหญ่บ้านพระกลางท่า หมู่ 2 เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบข้ามพรมแดนว่า เดิมพื้นที่หมู่บ้านมีหาดทรายสวยงาม เลื่องชื่อของอำเภอคือ หาดทรายทอง เป็นหาดทรายธรรมชาติที่ทอดยาวนับกิโลเมตรทางฝั่งโขงของไทย ช่วงเดือนมีนาคม ชาวบ้านจะลงไปจัดเตรียมพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวช่วงหน้าร้อน นับว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นเป็นอย่างมากต่อเนื่องกันมาหลายปี แต่ในปี 2561-2562 ในเดือนเมษายน ระดับน้ำโขงกลับสูงขึ้นแบบกะทันหัน ทำให้หาดทรายทองหายไป ดอนทรายที่เป็นหัวหาดถูกพัดพาให้หายไป ทรายที่ตกมาแทนเป็นทรายแข็ง ปีนี้ทางอบต.พระกลางทุ่ง เตรียมที่จะลงไปปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว ปรากฏว่า น้ำโขงไม่ลดลงเลย ทำให้หาดไม่โผล่ เป็นที่น่าเสียดายด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้านกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีคุณภาพลดลง แม้ว่าปีที่แล้วระดับน้ำโขงจะสูงมาก มีตะกอนตกทับมายังตลิ่ง แต่กลับเป็นดินแข็ง และมาพร้อมกับหญ้าชนิดใหม่คือ หญ้าอ้อยหนู ขึ้นกระจายไปทั่วพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านปลูกพืชชนิดอื่น ๆ ยากขึ้นต้องเสียเวลากำจัดและต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น แต่เดิมนั้นพื้นที่ชานตลิ่งริมฝั่งโขงป็นแหล่งปลูกมันแกว แต่เดี๋ยวนี้ไม่ขึ้น หรือแม้จะขึ้นก็หัวขนาดเล็ก ไม่กรอบอร่อยเหมือนเคย ที่สังเกตเห็นคือดินไม่ดีเหมือนเดิม แม้ว่าน้ำจะหลากท่วมสูง แต่แม่น้ำโขงกลับไม่ได้พัดพาตะกอนที่อุดมสมบูรณ์มาเช่นแต่ก่อน นางบังอร เกษตรกรจากปากแม่น้ำก่ำ เล่าว่าปากเป่ง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลักของชาวบ้าน ช่วงน้ำลดประมาณ 6 เดือนชาวบ้านจะลงไปปลูกพืชผักสวนครัว เป็นแหล่งรายได้