ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีนโยบายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการประกันภัยให้อยู่ บนพื้นฐานความถูกต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย ทั้งการกำกับดูแลด้านเสถียรภาพความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย และการยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดของอุตสาหกรรมประกันภัย ซึ่งหนึ่งในกระบวนการสำคัญในการกำกับพฤติกรรมทางการตลาดของระบบประกันภัยเพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและเชื่อถือ คือ การกำกับดูแลคนกลางประกันภัย และได้มีการปรับปรุงกฎหมายแม่บทว่าด้วยการประกันภัย เพื่อแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนโดยตรง โดยเพิ่มบทบัญญัติการป้องกันและปราบปรามเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย การปรับปรุงการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยให้เข้มข้นขึ้น รวมทั้งปรับปรุงมาตรการการลงโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เกี่ยวกับประกันภัย ซึ่งขณะนี้ร่างพระราช บัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอยู่ในระหว่างขั้นตอนทูลเกล้าฯ เพื่อทรง ลงพระปรมาภิไธย โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับกรณี บริษัท พนมธรรม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด ซึ่งรับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยแต่ไม่นำส่งบริษัทประกันภัย เป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชนได้รับความเสียหาย เลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียน ได้มีคำสั่งที่ 6/2562 ลงวันที่ 29 มกราคม 2562 เพิกถอนใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัยของบริษัท พนมธรรมฯ และใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัยของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2562 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัท พนมธรรมฯ รวมทั้งแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งพบว่ามีบริษัทประกันภัยจำนวน 5 บริษัท ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท พนมธรรมฯ โดยมีผู้ร้องเรียนจำนวน 680 ราย ซึ่งบริษัทประกันภัยทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี โดยทั้ง 5 บริษัทประกันภัยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ได้รับผลกระทบตามลักษณะความเสียหายและความต้องการของผู้เสียหายแต่ละราย อาทิ การออกกรมธรรม์ประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย การคืนเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย เป็นต้น นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ติดตามเรื่องร้องเรียนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท พนมธรรมฯ ที่อาจจะมีการร้องเรียนเพิ่มเติม และกำหนดให้บริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาให้กับสำนักงาน คปภ. ทราบ ทุกไตรมาสตลอดปี 2562 ซึ่งหากมีความคืบหน้าจะได้รายงานให้ทราบต่อไป “สำนักงาน คปภ. ขอให้ประชาชนมีความมั่นใจว่า ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยนั้น มีความตระหนักและความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาปรับปรุงเรื่องของการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง (The fair treatments of the customers) และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สำนักงาน คปภ. มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายอย่างเฉียบขาด และแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจรแล้ว ทั้งนี้ ยังได้แสดงความห่วงใยมายังประชาชน โดยหากยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอขายกรมธรรม์ฯของบริษัท พนมธรรมฯ ขอให้ติดต่อไปยังบริษัทประกันภัยที่ท่านได้ทำประกันภัย หรือติดต่อที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย