ประชาชนคนไทยทั้งประเทศรวมถึงที่พำนักอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงแห่งความปลาบปลื้มปีติที่ได้ร่วมในวโรกาสทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหาษัตริย์ราชกาลที่10โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประวัติศาสตร์อันสำคัญของประเทศไทยที่ทั่วโลกก็ต้องจารึกและมีความสุขที่ได้ชื่นชมพระบารมีพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10 เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น.พระนามเดิมว่าสมเด็จ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรง สุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรได้มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นที่คาดหมายว่าพระองค์จะสืบราชสมบัติต่อ ทั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ทรงขอผ่อนผัน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยตำแหน่งไปพลางก่อน ลุถึงวันที่ 1 ธันวาคมพศ.2559 จึงพระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประมุขฝ่ายบริหาร และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา ประมุขฝ่ายตุลาการ เข้าเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้กราบบังคมทูลเชิญขึ้นสืบราชสมบัติ จากนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า “ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร" (อ่านว่า สม-เด็ด-พฺระ-จ้าว-หฺยู่-หัว-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน- บอ-ดิน-ทฺระ-เทบ-พะ-ยะ-วะ-ราง-กูน) กระทั่งวันที่ 1 ม.ค.2562 สำนักพระราชวังได้เผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีใจความดังนี้ เลขาธิการพระราชวังรับพระราชโองการเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า โดยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย ตามคำกราบทูลเชิญของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยนั้น ทรงพระราชดำริว่า เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามพระราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักร ให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ดังนี้ วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงค์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงค์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูต และกงสุลต่างประเทศ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ส่วนการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีขึ้น ในช่วงการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ปลายปีพุทธศักราช 2562 จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน สำนักพระราชวัง 1 มกราคม พุทธศักราช 2562 ตลอดช่วงงานมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ประจักษ์ถึงความรักความเทิดทูนด้วยความจงรักภักดีด้วยเสียงอันดังกึกก้องตลอดเวลาของพสกนิกรที่ได้เฝ้าฯรับเสด็จ “ขอทรงพระเจริญ”และเมื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จสมบูรณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่10พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอดและครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” นับแต่ที่ทรงเสด็จขึ้นทรงราชได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์แก่ปวงอาณาประชาราษฎร์มาอย่างต่อเนื่องทั้งที่ประสบทุกข์เดือดร้อนเฉพาะหน้าเพื่อเป็นขวัญกำลังใจอย่างต่อเนื่องทั้งที่ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย ภัยหนาว ภัยจากความไม่สงบและได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตคือแหล่งน้ำที่จะเกื้อกูลการดำเนินชีวิตนำสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พสกนิกรช่วยเหลือพึ่งพาตัวเองได้รวมถึงทรงรับโครงการที่ราษฎรขอพระราชทานความช่วยเหลือไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ไปจนถึงพระราชทานโครงการจิตอาสาทำความ ดี ด้วยหัวใจด้วยทรงมีพระราชหฤทัยที่จะให้คนไทยมีความรักความสามัคคี รู้จักเสียสละ รู้จักให้ไม่เห็นแก่ตัว นำไปสู่ความรักสามัคคีกันของราษฎรทั้งประเทศได้รวมพลังพัฒนาพื้นที่ต่างๆที่ก่อประโยชน์สุขเป็นส่วนรวม ด้วยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้และด้วยความจงรักภักดีในวโรกาสมหามงคลพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกข้าพระพุทธเจ้านายเสกสรร สิทธาคม หนังสือพิมพ์สยามรัฐในนามพสกนิกรไทยขอพระบรมราชานุญาตถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานให้ทรงพระเกษมสำราญพระพลานามัยแข็งแรง สถิตเป็นร่มโพธิ์ทองมิ่งขวัญราษฎรไทยตราบกาลนาน ขอทรงพระเจริญ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ