สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่บ้านคู่เมืองไทยมานับเนื่องแต่ครั้งอดีตกาล อีกทั้งมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องตามความจำเป็นในแต่ละยุคสมัย โดยที่องค์พระมหากษัตริย์นั้นมีฐานะเป็นผู้ปกครองที่มีลักษณะพิเศษทั้งในการได้มาและการใช้พระราชอำนาจ การปรากฏฐานะของกษัตริย์โดยทั่วไปนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ กษัตริย์ในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ กษัตริย์ในลัทธิเทวสิทธิ์ และกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นได้ว่าฐานะของกษัตริย์ในสังคมไทยนั้นได้มีวิวัฒนาการผ่านมาในทุกรูปแบบ กว่าที่จะมาเป็นกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในภูมิภาคตะวันตกให้ความสำคัญต่อการสถาปนาตำแหน่งผู้เป็นใหญ่ในการปกครองที่จะขึ้นมาปกครองด้วยพิธีการสวมมงกุฎ (ภาษาละติน corona) แต่ในซีกโลกตะวันออกที่ยึดแนวคิดตามขนบของอินเดีย จะให้ความสำคัญกับพิธีการรับฐานะผู้นำด้วยการ “อภิเษก” คือ หลั่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ลงบนศีรษะของบุคคลผู้จะขึ้นมาเป็นใหญ่ในการปกครอง ซึ่งตาม ตำราปัญจราชาภิเษก แบ่งการได้มาซึ่งสิทธิ์ที่จะได้รับการอภิเษกออกเป็น 5 ลักษณะ คือ อินทราภิเษก โภคาภิเษก ปราบดาภิเษก ราชาภิเษก และ อุภิเษก อินทราภิเษก คือ ผู้ที่ปกครองแผ่นดินได้เข้าพิธีอภิเษกโดยมีพระอินทร์นำเครื่องปัญจกกุธภัณฑ์มาถวาย ทั้งมีพระบุษยพระพิชัยราชรถกับฉัตรทิพย์ได้บังเกิดขึ้น โภคาภิเษก คือ ผู้ที่จะเข้าพิธีอภิเษก มีเชื้อสายเป็นตระกูลพราหมณ์ ที่เป็นมหาเศรษฐี มีสมบัติบริวารมาก รู้จักราชธรรม ตราชูธรรม กับทศกุศล และรู้จักแบ่งปันดับรอนทุกข์ของราษฎร ปราบดาภิเษก คือ ผู้ที่เข้าพิธีอภิเษก มีเชื้อสายตระกูลกษัตริย์ มีอำนาจกล้าหาญในการสงคราม มีชัยแก่ศัตรู ได้ราชฐานบ้านเมืองและราชสมบัติ ราชาภิเษก คือ ผู้ที่จะเข้าพิธีอภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ด้วยการได้รับมอบราชสมบัติจากพระราชบิดาให้สืบพระวงศา อุภิเษก คือ ผู้ที่เป็นเชื้อสายกษัตริย์ มีพระราชบิดาและพระราชมารดามีชาติตระกูลเสมอกัน ได้อภิเษกสมรสกับผู้มีเชื้อสายกษัตริย์ แม้ว่าจะเป็นกษัตริย์จากแดนไกล แต่มีลักษณะสุขุมขัตติยชาติจัดเป็นสวัสดิชาติ การพิธีบรมราชาภิเษกในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ชนชั้นหลังล้วนใคร่รู้ ไม่ใช่จำกัดแต่คนในแวดวงนักประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาดังครั้งอดีต ที่มาของพระราชพิธีสำคัญนี้มีผู้ศึกษาและเสนอแนวคิดไว้เป็นอันมาก แต่ข้อมูลที่มักจะมีผู้นำมาอ้างอิงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการพระราชพิธีนี้ ก็คือ “เรื่องบรมราชาภิเษก” พระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ซึ่งท่านสันนิษฐานว่าไทยเรานําวัฒนธรรมเดิมของไทยเรามาจากจีนใต้ส่วนหนึ่ง รับวัฒนธรรมมอญเข้าไว้อย่างสนิทสนมส่วนหนึ่ง แล้วรับวัฒนธรรมเขมรไว้อย่างเผินๆ อีกส่วนหนึ่ง การได้มาซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าว ท่านพิจารณาจากทัศนะของไทยในเรื่องตําแหน่งพระมหากษัตริย์ไว้ว่า ชาติไทยมีวัฒนธรรมเดิมมาแต่จีนใต้ส่วนหนึ่ง ในวัฒนธรรมเดิมนี้ หน้าที่พระมหากษัตริย์เป็นดุจพ่อเมือง เป็นผู้นําออกรบพุ่งในเวลามีศึก เป็นทั้งพ่อผู้ปกครอง ทั้งตุลาการของราษฎรในเวลาสงบศึก พระมหากษัตริย์ทรงคุ้มครองราษฎรอย่างสนิทสนม ระเบียบพ่อเมืองดังได้กล่าวมานี้ เมื่อได้รับวัฒนธรรมมอญแห่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์มาเจือปนก็เข้ากันได้สนิทสนมดี ความนิยมที่จะให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นธรรมิกราช ดุจดังพระเจ้ามหาสมมตราชแห่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์นั้น และการเป็นธรรมิกราชพระมหากษัตริย์ คือ ทรงทศพิธราซธรรม ทรงประกอบสังคหวัตถุทั้ง 4 ประการ ทรงดํารงพระองค์อยู่ในจกฺกวตฺติวตฺต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรทรงมีอรรถาธิบายเกี่ยวการบรมราชาภิเษกไว้ว่า ตามหลักเดิมของไทยนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตลงที่ประชุมที่กล่าวมาแล้วนั้นเลือกพระมหากษัตริย์ใหม่ แต่พระองค์ทรงเป็นแต่ผู้สําเร็จราชการแผ่นดินไปก่อน จนกว่าจะได้ทรงรับราชาภิเษก ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับนั้นเครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น พระเศวตฉัตรมีเพียง 7 ไม่ใช่ 9 ชั้น คําสั่งของพระองค์ไม่เป็นโองการ ฯลฯ เหตุฉะนั้นจึงมักต้องรีบทําพิธีนี้เสีย สิ่งเหล่านี้ในสมัยปัจจุบันมิได้ถือเคร่งครัด พิจารณาดูการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนับแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า “โครงของพระราชพิธี” ยังคงมีลักษณะเดียวกัน จะมีต่างกันก็แต่รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีที่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมแก่กาลสมัยที่มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่ละครั้ง ในประวัติศาสตร์ แม้จะไม่มีหลักฐานให้สืบค้นกลับไปได้ลึกนัก แต่ที่ทราบแน่นอนนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ ได้ทรงทําพิธีอย่างลัดครั้งหนึ่งก่อน แล้วก็ติดงานพระราชสงครามกับพม่า จนหมดห่วงเรื่องนี้แล้ว จึงทรงตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง มีเจ้าพระยาเพชรพิชัย ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นประธาน ให้สอบสวนแบบแผนโดยถี่ถ้วน พอการสร้างพระนครทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จลง จึงได้ทรงทําบรมราชาภิเษกโดยพิสดารอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2328 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเดิมทีมีแต่พิธีพราหมณ์ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 ทรงเพิ่มพิธีทางพุทธศาสนาเข้าไป ทั้งทรงพระราชนิพนธ์ส่วนภาษาบาลีเพิ่มขึ้นในงานครั้งนั้นด้วย โดยได้ของเก่ามาเทียบเคียงพิธีพราหมณ์ที่เรียกว่าเปิดประตูไกลาส ซึ่งเป็นการอัญเชิญพระอิศวรให้เสด็จลงมาจากเขาไกลาส การบรมราชาภิเษกพิสดารในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2328 นั้น ได้นับเป็นแบบแผนปฏิบัติกันสืบต่อมา โดยเปลี่ยนรายการบางอย่าง จึงขอนำความในพระนิพนธ์บางส่วนของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ซึ่งเป็นการบรมราชภิเษกเมื่อครั้งอดีตมาเป็นแนวทาง แม้รายละเอียดจะแตกต่างกับที่จะเกิดขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน แต่ก็จะทำให้คนรุ่นหลังได้ทำความเข้าใจในลำดับพระราชพิธีได้ในลำดับหนึ่ง ดังนี้ ก่อนเริ่มพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ ได้มีการเสกน้ำสรงที่ปูชนียสถานสําคัญ หรือที่มณฑล ทั้ง 17 มณฑล เพิ่มวัดมหาธาตุสวรรคโลก ซึ่งอยู่ในมณฑลพิษณุโลกอีกแห่งหนึ่ง รวมเป็น 18 แห่ง ส่วนที่กรุงเทพฯ ก็มีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระซาตา และพระราชลัญจกรแผ่นดิน ครั้นถึงกําหนดงาน ก็มีพิธีตั้งน้ำวงด้ายด้วยวัน 1 กับสวดมนต์เลี้ยงพระอีก 3 วัน ซึ่งไม่สู้จะมี ลักษณะแปลกไปจากสวดมนต์เลี้ยงพระตามธรรมดามากนัก แปลกแต่มีการประกาศเทวดาในเวลาเย็นทั้งสามวัน ครั้นถึงวันที่ 4 เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงพระมูรธาภิเษกสนานแล้วทรงเครื่องต้น ออกสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระราชอาสน์แปดเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่าพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้พระเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ราชบัณฑิตและพราหมณ์นั่งประจําทิศทั้งแปด ผลัดเปลี่ยนกันคราวละทิศ กล่าวคําอัญเชิญให้ทรงปกปักรักษาทิศนั้นๆ แล้วถวายน้ำอภิเษกและถวายพระพรชัย เมื่อเวียนไปจนครบแปดทิศแล้ว กลับมาประทับทิศตะวันออก หัวหน้าราชบัณฑิตซึ่งนั่งประจําทิศตะวันออก กราบบังคมทูลรวบยอดอีกที่หนึ่ง จึงเสด็จสู่พระราชอาสน์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพระที่นั่งภัทรบิฐ จึงพระมหาราชครู (ในรัชกาลที่ 7 เป็นเพียงพระราชครูวามเทพมุนี ว่าที่พระมหาราชครู) ร่ายเวทสรรเสริญไกลาส จนเสร็จพิธีพราหมณ์ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาบาลีก่อน แล้วแปลเป็นไทย เมื่อทรงรับคำกราบบังคมทูลแล้ว พระมหาราชครูจึงถวายพระสุพรรณบัฏ พระสังวาลสามสายและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงอัษฎาวุธ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามตํารามีห้าอย่าง อะไรบ้างนั้น ไม่ตรงกันทุกตําราไป อย่างไรก็ดี ที่พระมหาราชครูถวายนี้คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแส้จามรี ธารพระกร และพระแส้หางช้างเผือก รวมทั้งฉลองพระบาทเชิงงอน พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี พระแส้จามรี ฉลองพระบาทเชิงงอน กับพระเศวตฉัตร รวม 5 อย่างนี้ เข้าใจว่าเป็นเบญจราชกกุธภัณฑ์ตามตํารับเดิมของลังกา มีเครื่องราชูปโภค คือ พระแสงฝักทองเกลี้ยง เป็นพระแสงประจําพระองค์ที่มหาดเล็ก เชิญตามเสด็จ ธารพระกรเทวรูป พระสุพรรณศรีบัวแฉก พานพระขันหมาก พระมณฑป พระเต้าทักษิโณทก เป็นเครื่องทรงใช้ประจําวัน ซึ่งมหาดเล็กเชิญตามเสด็จทุกงานพระราชพิธี ส่วนพระแสงอัษฎาวุธ คือ พระแสงแปดองค์นั้น เป็นอาวุธพระเป็นเจ้า (ตรี จักร ธนู) บ้าง เป็น พระแสง อันมีเรื่องทางประวัติศาสตร์ (พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง หมายถึงพระนเรศวรทรงยิงข้ามแม่น้ำนั้น ไปถูกแม่ทัพพม่าตาย) บ้าง อื่นๆ อีกบ้าง แล้วพระสิทธิชัยบดีจึงกล่าวคําถวายพระเศวตฉัตร และพราหมณ์อื่นกล่าวศิวเวท วิษณุมนตร์ เป็นภาษาโบราณ และถวายชัย ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงรับ นี่เป็นระยะสําคัญที่สอง เพราะพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการเป็นครั้งแรก แล้วทรงหลั่งน้ำ จากพระเต้าทักษิโณทก ตั้งสัตยาธิษฐานที่จะทรงเป็นธรรมิกราช จึงมีการประโคมเซ็งแซ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อสุดเสียงประโคม จึงทรงโปรยพิกุลเงินทองแก่พราหมณ์ แล้วเปลื้องเครื่องทรงบางอย่าง เช่น พระมหาพิชัยมงกุฏ แล้วเสด็จขึ้นจากมหาสมาคมสู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับพรจากพระสงฆ์ราชาคณะที่เข้างานวันก่อน มาแล้วทั้งสามวัน เป็นเสร็จงานส่วนใหญ่ในตอนเช้า ครั้นตอนกลางวัน ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จฯ ออกท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับพรจากมหาสมาคมแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตยราชบริพาร มีพระราชดํารัสขอบใจ และทรงอนุญาตให้ผู้ทําราชการคงดํารงตําแหน่งสืบไปด้วย พิธีนี้ของเดิมไม่ใช่แต่การถวายพระพรเท่านั้น แต่ท่านมุขอํามาตย์หัวหน้ารัฐบาลทั้งหก คือ สมุหพระกลาโหม สมุหนายก และเสนาบดีเวียง วัง คลัง นา ซึ่งเรียกว่า จตุสดมภ์ ต่างถวายราซสมบัติอันอยู่ในหน้าที่ของตน เป็นต้นว่า(ในรัชกาลที่ 2) สมุหพระกลาโหมถวาย รถหลวง เรือหลวง ศัสตราวุธและหัวเมืองขึ้นกลาโหม สมุหนายกถวายพระยาช้างต้น ม้าต้น พลเรือนและหัวเมืองขึ้นมหาดไทย เสนาบดีคลังถวายราชพัทยากรและราชสมบัติทั้งสิบสองท้องพระคลัง ฯลฯ เมื่อถวายทั่วแล้วจึงพระราชทานอนุญาตให้บรรดาข้าราชการดํารงตําแหน่งรักษาราชอาณาและราชสมบัติ ในหน้าที่ของตนๆ สืบไป ต่อจากนี้เสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ฝ่ายในเฝ้าถวายพระพรเช่นฝ่ายหน้าในสมัยโบราณ เป็นหน้าที่ท้าววรจันทร์ถวายสิบสองพระกํานัล แต่ธรรมเนียมนี้ได้เลิกไปตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ในรัชกาลที่ 7 ได้เติมการทรงสถาปนาพระชายาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในระยะนี้ เวลาเย็นเสด็จไปทรงแสดงพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภก ต่อหน้าคณะสงฆ์ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยกระบวนราชอิสริยยศ แล้วเสด็จฯ ขึ้นทรงสักการะสมเด็จพระบรมราชบูรพการีทุกพระองค์ อนึ่ง ค่ำวันนี้ เสด็จขึ้นเถลิงพระราชมณเฑียร ในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เป็นพิธีอย่างคนไทยขึ้นบ้าน คือประทับบนพระแท่นบรรทม ทรงรับกุญแจทอง จั่นหมากทอง ธารพระกร พันธุ์ผัก หินบด และแมว ฯลฯ เจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายในถวายพระพร แล้วเอนพระองค์ลงบนพระแท่นบรรทม พอเป็นมงคลฤกษ์ งานบรมราชาภิเษกแท้ๆ นับว่ายุติลงเพียงนี้ ส่วนท้ายของบรมราชาภิเษก ก็คือ เลียบเมือง อันเป็นธรรมเนียมมีมาแต่อินเดียโบราณ ดังปรากฏในพระบาลีต่างๆ มีชาดก เป็นต้น ทางพราหมณ์ก็นิยมธรรมเนียมนี้ดุจกัน ดังปรากฏในคัมภีร์อัคนิปุราณ เป็นต้น แต่เดิมที่พระมหากษัตริย์เสด็จประทักษิณพระนคร เพื่อแสดงพระองค์แก่ทวยราษฎร ครั้นมาในรัชกาลที่ 4 ทรงแปรรูปงานนี้เป็นการเสด็จฯ ไปสักการะพระศาสนาในพระอารามที่สําคัญ เป็นงานสองวัน บกวันหนึ่ง เรือวันหนึ่ง แล้วเป็นเสร็จการ