รูปเงาแห่งเสียง / อติภพ ภัทรเดชไพศาล โอเปร่าเหยียดเพศ–ชาติพันธุ์ กับทางเลือกของยุคสมัย โอเปร่าเรื่องทูรันโดต์ (Turandot) ของพุชชินี (Giacomo Puccini) แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2467 และมีฉากเป็นประเทศจีนในจินตนาการ เพราะท้องเรื่องถูกสมมติขึ้นในลักษณาการของเทพนิยาย เรื่องย่อๆ เล่าถึงเจ้าหญิงทูรันโดต์ ผู้เลอโฉม ซึ่งประกาศจะแต่งงานกับใครก็ได้ที่สามารถตอบคำถาม 3 ข้อของนางได้ แต่หากผู้เสนอตัวตอบไม่ได้ จะต้องถูกลงทัณฑ์ด้วยการประหารชีวิต ผลจึงปรากฏว่ามีชายหนุ่มมากมายเสนอตัวตอบปัญหา และกลับต้องเผชิญจุดจบด้วยการถูกประหารอย่างน่าอนาถ จนกระทั่งเจ้าชายกาลัฟปรากฏตัวขึ้น และสามารถตอบคำถามของเจ้าหญิงได้ทุกข้อ ส่งผลให้เจ้าหญิงเจ็บแค้นใจมาก และพยายามจะหาวิธีใดๆ ก็ตามที่จะไม่ต้องแต่งงานกับเจ้าชาย ดังนั้นเมื่อเจ้าชายตั้งคำถามท้าเจ้าหญิง ว่าให้บอกนามอันแท้จริงของเจ้าชาย ทูรันโดต์จึงไม่รีรอที่จะใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะรู้คำตอบข้อนี้ จนถึงกับทรมานหญิงรับใช้ของเจ้าชาย ผู้ซึ่งซื่อสัตย์ต่อเจ้าชายเป็นอย่างยิ่ง และไม่ยอมบอกความลับนี้แก่ทูรันโดต์ จนถึงขนาดพลีชีพฆ่าตัวตายเพื่อรักษาความลับนี้ หลังจากนั้น ทูรันโดต์จึงได้พบกับกาลัฟสองต่อสอง ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและกัน และโอเปร่าเรื่องนี้ก็จบลงอย่างมีความสุข ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีผู้วิจารณ์บางคนเห็นว่า สถานะของทูรันโดต์ในโอเปร่าเรื่องนี้นั้นดูไม่ธรรมดาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าเธอมีอำนาจสั่งประหารชายหนุ่มเป็นจำนวนมากทิ้งไปในตอนต้นเรื่อง ดังนั้น ในต้นเค้าเรื่องเดิม ทูรันโดต์อาจดำรงสถานะของหัวหน้าเผ่าสตรีผู้เป็นใหญ่ ในศาสนาผีดั้งเดิมของชาวตะวันออกก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม สถานะเช่นนั้นของทูรันโดต์ก็ค่อนข้างกำกวมในตัวเอง เพราะในหลายฉากหลายตอน เราจะเห็นการกระทำที่เหลวไหล ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง อันเป็นคุณสมบัติด้านลบของสตรีทั้งสิ้น เช่น การพยายามตระบัดสัตย์ที่ตนเองให้ไว้ตั้งแต่แรก เป็นต้น และการทรมานหญิงรับใช้ด้วยวิธีการอันป่าเถื่อน ก็แสดงให้เห็นถึงความไร้เหตุผล ยิ่งกว่านั้น เมื่อพบกับกาลัฟสองต่อสองและถูกฝ่ายชายจู่โจมด้วยการจูบ ทูรันโดต์ยังถึงกับเปลี่ยนใจมารับรักของกาลัฟเสียอย่างง่ายๆ ในทันใดนั้นเอง ง่ายเสียจนผู้ชมคิดว่ามันไม่คุ้มค่ากับการสละชีวิตของหญิงรับใช้เลยแม้แต่น้อย ในบทความของ Rob Buscher ที่ชื่อว่า Turandot: Time to call it quits on Orientalist Opera? (www.operaphila.org) กล่าวถึงฉากนี้ว่า - มันไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากอคติทางเพศของผู้แต่งที่สมาทานลัทธิชายเป็นใหญ่ และเห็นว่าสุดท้ายแล้ว ผู้หญิงก็เป็นเพียงวัตถุที่จะต้องถูกครอบครองโดยผู้ชายเท่านั้น ในลักษณาการของการพิชิตเอาชัยชนะนั่นเอง ผู้หญิงอย่างทูรันโดต์ จึงเป็นภาพแทนเพศหญิงที่ถูกสร้างให้มีลักษณะที่ตายตัว ตามมายาคติความเชื่อของเพศชายผิวขาว ยิ่งทูรันโดต์เป็นหญิงสาวชาวตะวันออก ภาพแทนนี้จึงเป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งอาณานิคม ที่ถูกคนขาวเข้ายึดครอง ทั้งด้วยกำลังและสติปัญญาที่เหนือกว่าทุกอย่าง ภาพลักษณ์อันน่ากลัวของทูรันโดต์ในตอนต้นเรื่อง จึงถูกกำหราบโดยฝ่ายชาย ดุจเดียวกับดินแดนแปลกถิ่นที่ดูน่ากลัวในระยะแรก ถูกกำหราบและยึดครองโดยคนขาวนั่นเอง (ช่วงเวลาที่พุชชินีเขียนโอเปร่าเรื่องนี้ ดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศจีนตกอยู่ภายใต้อำนาจปืนของชาวยุโรปแล้ว แม้จะอย่างไม่เป็นทางการก็ตาม) Rob Buscher ผู้เขียนบทความจึงเสนอว่า กรณีของโอเปร่าที่ทั้งเหยียดเพศและชาติพันธุ์ เช่นเรื่อง Turandot นี้ ที่จริงแล้วควรได้รับการพิจารณาแก้ไข-เขียนขึ้นใหม่ด้วยมุมมองใหม่ของคนในปัจจุบัน เพราะโอเปร่าไม่เหมือนกับภาพยนตร์ ที่เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ (เช่น ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งอาจเต็มไปด้วยอคติเหยียดชาติพันธุ์จริง แต่เราก็ทำอะไรกับมันไม่ได้นอกจากจะรับรู้มันในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่านั้น) แต่โอเปร่าเป็นการแสดงที่เราสามารถแก้ไขบทใหม่ เปลี่ยนเนื้อหา เปลี่ยนทัศนคติให้สมสมัยกับปัจจุบันได้ ดังนั้น นั่นจึงเป็นสิ่งที่นักแต่งเพลงรุ่นใหม่ควรกระทำ เพื่อลบล้างความเชื่อเหยียดเพศเหยียดชาติพันธุ์ที่ผิดๆ เหล่านั้นออกจากงานศิลปะชั้นเยี่ยมเสีย ดังที่มีคณะละครบางแห่ง แก้ไขบทดั้งเดิมของโอเปร่าเรื่อง Madama Butterfly ให้มีความสมเหตุสมผล และลบท่าทีของการเหยียดชาติพันธุ์ออกบ้างแล้วนั่นเอง ภาพโฆษณาโอเปร่าเรื่อง Turandot ของคณะ Cincinnati Opera