ชาวประมงพื้นบ้านที่ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา ยังคงใช้วิธีหาปลาที่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ด้วยวิธีดูหลำ ภูมิปัญญาดำน้ำฟังเสียงปลาจากบรรพบุรุษ ออกจับปลาในทะเล สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ และชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ยังใช้ภูมิปัญญาในการขับเรือขึ้นมาบนฝั่งโดยใช้ทางมะพร้าวแห้งแทนรางไม้ ที่ บริเวณชายหาด ม. 5 ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลาในช่วงนี้คลื่นลมในทะเลชายฝั่งจังหวัดสงขลา เข้าสู่สภาวะปรกติ และทะเลเรียบสงบ ชาวประมงพื้นบ้านนำเรือ ออกไปทำการประมงวางอวนจับปลา ทุกวัน โดยออกไปวางอวนตั้งแต่เวลา 6.00 น. และกลับเข้าฝั่งอีกครั้งประมาณ 12.00 น. พร้อมกับปลาที่ได้ ประกอบด้วย ปลาจวด 2 ซี ปลาคางโคบ และปลาอินทรี โดยมีพ่อค้าคนกลางมาคอยรับซื้อถึงชายฝั่งเพื่อนำไปขายต่อในตลาด โดยช่วงนี้สร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก สำหรับวิธีหาปลาชาวประมงพื้นบ้านที่ต.ตลิ่งชัน ยังคงใช้วิธีหาปลาที่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ด้วยการนำของ “ดูหลำ” ซึ่งเป็นคนที่ฟังเสียงปลาร้องเพื่อทราบตำแหน่งของปลาในทะเล โดยการจับปลาด้วยวิชา “ดูหลำ” เริ่มจากชาวประมงเริ่มออกเรือตั้งแต่เช้าตรู่ครั้งละ 3 - 4 ลำ ไปยังที่คาดว่าน่าจะมีปลาอยู่ ก่อนที่เรือทุกลำจะพร้อมอยู่ในจุดลงอวนพร้อมดับเครื่องยนต์ เพื่อไม่ให้ปลาตกใจ จากนั้น “ดูหลำ” จะเอาเรือพายลงและดำน้ำฟังหาเสียงปลา โดยในขั้นนี้ จะบอกได้เพียงว่าฝูงปลาที่ได้ยินนั้น เวียนว่าย (น้ำ) อยู่ทางทิศใด ซึ่งหากได้ยินเสียงปลา “ดูหลำ” จะส่งสัญญาณด้วยการชูไม้พายเรือขึ้น เพื่อให้เรือลำอื่นทราบ และต้องพายเรือไปตามเสียงในทิศทางที่ได้ยิน และเมื่อมาถึงที่ฝูงปลาอยู่ “ดูหลำ” จะลงน้ำ นอนคว่ำหน้าราบกับผิวน้ำทะเล โดยหันหน้าไปทางต้นเสียงและเมื่อมุ่งหน้าตามเสียงไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงจุดที่ฝูงปลาอยู่หนาแน่น เสียงที่ได้ยินจะดังอยู่บริเวณรอบตัว “ดูหลำ” จะให้สัญญาณโดยการใช้มือสาดน้ำ เพื่อให้เรือที่คอยอยู่บริเวณรอบๆ ทำการล้อมอวนเป็นวงกลมเพื่อจับปลา และเมื่อเรือทุกลำวางอวนเสร็จ จะใช้จุ่มลงไปในน้ำแล้วเคาะไม้ไล่ปลาให้แตกตื่นเพื่อที่จะวิ่งเข้าหาอวน จากนั้นเรือแต่ละลำจะทำการสาวอวนขึ้นมาพร้อมกับปลาโดยใช้เวลาดึงอวนประมาณ 1 ชั่วโมงต่อครั้ง จับปลาได้ต่อลำประมาณลำละ 20-30 กก.หรือเต็มลังปลา โดยส่วนใหญ่ปลาที่จะร้อง ได้แก่ ปลา 2 ซี ปลาจวด ปลาโคบ ซึ่งแต่ละชนิดมีเสียงร้องต่างกัน ทั้งนี้ การจับปลาด้วยวิธี "ดูหลำ" จะออกเรือไปครั้งละ3-4 ลำ โดยใช้ดุหลำ 1คน โดยเรือแต่ละลำจะต้องแบ่งรายได้จากการขายปลาที่จับได้ให้"ดูหลำ" 10 % ซึ่งปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านที่นี้ ยังคงเชื่อมั่นกับวิธีการหาปลาด้วย ดูหลำ สามารถหาปลาได้มากกว่าวิธีอื่นๆ ซึ่งใน ต.ตลิงชั่น ยังมีคนที่มีวิชา ดูหลำ หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน ที่ยังคงอนุรักษ์และพร้อมที่จะถ่ายทอดวิชา ดูหลำ ให้กับชาวประมงรุ่นลูกและรุ่นหลานให้อยู่สืบต่อไป ซึ่งนอกจากการจับปลาด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแล้ว ชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ยังคงใช้ภูมิปัญญาในการนำ เรือขึ้นฝั่งโดยใช้ทางมะพร้าวแห้งแทนไม้ คนขับเรือจะหันหัวเรือเข้าหาฝั่งและตำแหน่งที่ต้องการพร้อมเร่งเครื่องเต็มที่ ขณะที่คนบนฝั่งจะจัดเตรียมปูทางมะพร้าวแห้งเรียงจนมาถึงริมน้ำ และคอยถือทางมะพร้าวเพื่อสอดเข้าไปขณะที่หัวเรือสัมผัสกับพื้นทรายบนฝั่ง ถ้าวางทางมะพร้าวก่อนคลื่นจะซัดทางมะพร้าวลงทะเล ทำให้เรือไม่ลื่น จึงต้องคอยถือทางมะพร้าวแห้งเพื่อสอดเข้าไปขณะที่หัวเรือสัมผัสกับพื้นทรายบนฝั่งทางมะพร้าวสัมผัสกับท้องเรือเกิดความลื่นทำให้เรือขึ้นไปจอดบนฝั่งได้โดยไม่ต้องใช้แรงคนลากเรือขึ้นฝั่ง นับเป็นภูมิปัญญาในการนำ เรือขึ้นฝั่งของชาวประมงพื้นบ้านที่ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ จ.สงขลา